ศัพทมูลวิทยาและการอนุกรมวิธาน ของ ปลาก้างพระร่วง

ก่อนปี พ.ศ. 2525 ปลาก้างพระร่วงเคยถูกจัดให้เป็นปลาชนิดเดียวกับ K. bicirrhis ซึ่งเป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่กว่า ดุกว่า และพบไม่บ่อยในตลาดปลาสวยงาม[1][2] ต่อมาเชื่อกันว่าปลาก้างพระร่วงชนิดที่พบบ่อยในตลาดปลาเป็นชนิดเดียวกันกับ K. minor แต่ในปี พ.ศ. 2556 มีข้อสรุปว่าตัวอย่างปลาที่พบในตลาดปลานั้นเป็นชนิดต่างหากอีกชนิดหนึ่ง จึงได้รับการบรรยายชนิดใหม่โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า K. vitreolus[1][3] ส่วนชนิด K. minor ที่แท้จริงมีถิ่นอาศัยจำกัดอยู่ที่เกาะบอร์เนียวเท่านั้น และแทบไม่เคยถูกนำเข้ามาในตลาดปลาสวยงามเลย[1][3][4]

ชื่อชนิด vitreolus แผลงมาจากคำคุณศัพท์ vitrevs ในภาษาละตินซึ่งแปลว่า "ที่ใสหรือมีคุณสมบัติอย่างแก้ว"[1] ส่วนชื่อสามัญในภาษาไทยมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านภาคกลางที่เล่าต่อกันมาว่า พระร่วงได้เสวยปลาชนิดนี้จนเหลือแต่ก้าง จึงทิ้งลงน้ำและกล่าววาจาสิทธิ์ว่าขอให้ปลาตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา ปลาตัวดังกล่าวก็กลับมีชีวิตขึ้นใหม่จริง ๆ จึงได้ชื่อว่า "ก้างพระร่วง" นับแต่นั้น นอกจากชื่อปลาก้างพระร่วงแล้ว ยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาผี", "ปลาก้าง", "ปลากระจก", "ปลาเพียว" เป็นต้น[5]