ปลาคางเบือน

ปลาคางเบือน (อังกฤษ: Twisted-jaw catfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Belodontichthys truncatus) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) ชนิดหนึ่ง มีลักษณะส่วนหัวแบนข้างมากเช่นเดียวกับลำตัว รูปร่างเพรียวยาว ด้านท้ายเล็กหัวและจะงอยปากงอนขึ้นด้านบน ปากกว้างมาก คางเชิดขึ้น จึงได้ชื่อว่า "คางเบือน" มีฟันแหลมคมบนขากรรไกร ตาโตอยู่ตอนกลางของหัว ใกล้มุมปากมีหนวด 1 คู่ยาวจนถึงครีบอก ครีบหลังเล็กมาก ครีบอกใหญ่ปลายแหลม ครีบท้องเล็ก ครีบหางเล็กเว้าตื้น ตัวมีสีเงินวาวหรือเหลือบสีเขียวอ่อน ด้านท้องสีจาง ครีบก้นและครีบหางมีขอบสีคล้ำ มีขนาดประมาณ 35-40 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 80 เซนติเมตร พบในแม่น้ำสายใหญ่ทั่วประเทศ ยกเว้นแม่น้ำสาละวินและภาคตะวันออก ในธรรมชาติมักอยู่ในแหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเวียนดี โดยหันหน้าทวนกระแสน้ำเพื่อดักจับกินลูกปลาขนาดเล็ก ๆ ที่รวมฝูงกันตามตอม่อสะพาน หรือบริเวณประตูน้ำหน้าเขื่อน เนื้อมีรสชาติดีและราคาแพง สามารถปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ทอดกระเทียม ต้มยำ และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยปลาที่เลี้ยงกันจะเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติ มักจะมีขายกันในช่วงปลายฤดูฝน[1]ปลาคางเบือนยังมีชื่อเรียกในภาษาอีสานอีกว่า "เบี้ยว", "ขบ" , "ปากวิบ" หรือ "แก็ก"[2]เป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีชื่อถูกกล่าวถึงกาพย์แห่ชมปลาของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ที่ว่าคางเบือนเบือนหน้ามา ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย