พฤติกรรม ของ ปลาฉลามหัวค้อน

ปลาฉลามหัวค้อน มีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 10-20 ตัว พบกระจายพันธุ์อยู่ในทะเลแถบอบอุ่นทั่วทุกมุมโลก เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว มีขนาดลำตัวตั้งแต่ไม่เกิน 1.5 เมตร จนถึง 6 เมตร ชอบกินอาหารจำพวก ปลากระดูกแข็งขนาดเล็กกว่า รวมถึงปลากระเบนซึ่งเป็นปลากระดูกอ่อนเหมือนกันด้วย นอกจากนี้ยังชอบกิน หมึก, กุ้ง, ปู และหอย รวมทั้งอาจล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขนาดใหญ่ เช่น โลมาหรือแมวน้ำ ได้ด้วยในบางชนิด โดยมักว่ายหากินตั้งแต่แนวปะการังไปจนถึงใต้ท้องทะเลลึกกว่า 275 เมตร ชอบว่ายน้ำโดยไม่หยุดไปมาตลอด ซึ่งสามารถว่ายน้ำได้ระยะไกล ๆ ในวันหนึ่ง ๆ โดยมีความเร็วในการว่ายประมาณ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีอายุขัยโดยเฉลี่ย 25 ปี

ปลาฉลามหัวค้อนจะออกลูกเป็นตัว ตกคราวละ 4-37 ตัว โดยการผสมพันธุ์จะเกิดก่อนที่ตัวเมียจะตกไข่นานถึง 2 เดือน ปลาตัวเมียจะเก็บน้ำเชื้อของตัวผู้ไว้ในต่อมสร้างเปลือกไข่ ซึ่งไข่จะเจริญมาจากรังไข่ข้างขวาซึ่งจะทำหน้าที่เพียงข้างเดียว ตัวอ่อนในมดลูกจะได้รับอาหารและออกซิเจนจากถุงไข่แดงและพู่เหงือก ซึ่งจะหายไปเมื่อโตขึ้น[3]

ปลาฉลามหัวค้อนที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก แถบหมู่เกาะกาลาปากอส มีพฤติกรรมว่ายออกหากินเป็นฝูง และไม่เพียงแค่ว่ายน้ำไปพร้อมกันเท่านั้น แต่พวกยังมีระบบสังคมหรือแม้แต่การสื่อสารปรากฏออกมาผ่านพฤติกรรมทั้งการสั่นหัวอย่างรุนแรง การเร่งความเร็วอย่างกะทันหัน การบิดตัวอย่างแปลกประหลาด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องนี้เชื่อว่าท่าทางเหล่านี้คือการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม โดยจะรวมตัวกันอยู่ที่แถว ๆ ภูเขาไฟใต้ทะเลระหว่างวัน แต่เมื่อถึงตอนกลางคืนก็จะแยกย้ายกันออกไปหาอาหารของตัวเอง ปลาฉลามหัวค้อนมักจะทำกิจวัตรทุกอย่างที่เป็นเส้นตรง และจะกลับมาตอนรุ่งเช้า ก่อนจะเริ่มต้นทำทุกอย่างเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง

ปลาฉลามหัวค้อน ถือเป็นนักล่าที่ปราดเปรียวว่องไว ถือว่ามีความว่องไวกว่าปลาฉลามนักล่าขนาดใหญ่กว่า อย่าง ปลาฉลามขาว หรือปลาฉลามเสือ การปักและหมุนเป็นพฤติกรรมที่ปลาฉลามหัวค้อนจะใช้ส่วนหัวกดปลากระเบนให้ดำดิ่งลงไปติดพื้นทะเล จากนั้นก็จะหมุนตัวเพื่อเลือกชิ้นส่วนของปลากระเบนในการกัดกิน การใช้หัวปักเหยื่อคือหนึ่งในความสามารถของการปรับตัวกับขนาดหัวที่ใหญ่ ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่แปลกประหลาดแต่ก็มีประสิทธิภาพมากที่สุดประการหนึ่งเช่นกัน[1]