การทำร้ายมนุษย์ ของ ปลาฉลามหัวบาตร

ปัจจุบัน มีการจัดอันดับให้ปลาฉลามหัวบาตรเป็นปลาฉลามที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด เนื่องด้วยการที่พบกระจายอยู่ทั่วโลกและสามารถเข้ามาอาศัยได้ในน้ำจืดได้[4]

ในเหตุการณ์ปลาฉลามโจมตีที่ชายฝั่งเจอร์ซีย์ ค.ศ. 1916 เป็นการจู่โจมมนุษย์โดยปลาฉลามหัวบาตรที่ขึ้นชื่ออย่างมาก และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ปีเตอร์ เบนชลีย์ นักเขียนชาวอเมริกัน แต่งเป็นนวยายเรื่อง Jaws ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันที่โด่งดังมากในปี ค.ศ. 1975[7]

ในปลายปี ค.ศ. 2002 ซึ่งตรงกับฤดูร้อนของออสเตรเลีย มีนักศึกษาระดับปริญญาเอก 2 คน ได้ลงไปว่ายน้ำในทะเลสาบไมอามี รัฐควีนส์แลนด์ เพื่อดับร้อน คนหนึ่งสามารถว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย แต่ โบ มาร์ติน นักศึกษาอีกคนวัย 23 ปี กลับหายไป เมื่อเพื่อนของเขากระโดดลงไปช่วยก็ไม่พบตัว วันรุ่งขึ้น พ่อของมาร์ตินและเจ้าหน้าที่ตำรวจออกตามหา แต่ก็ไม่พบ อีก 3 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลิกค้นหาแล้ว แต่พ่อของมาร์ตินยังคงค้นหาต่อด้วยเรือแคนู ในที่สุดก็พบศพลูกชายตัวเอง ในสภาพที่กึ่งจมกึ่งลอย ด้วยก๊าซในร่างกายที่ดันศพให้ลอยขึ้นมา ผลของการชันสูตร พบว่า โบ มาร์ติน เสียชีวิตจากการถูกปลาฉลามหัวบาตรกัดถึง 3 ครั้ง โดยบาดแผลฉกรรจ์ที่สุดอยู่ที่ต้นขาซ้าย[4]

ในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2003 ที่แม่น้ำบริสเบน ในออสเตรเลีย มีผู้พาม้าแข่งของตัวลงไปว่ายน้ำเพื่อออกกำลังกาย ปรากฏว่าม้าน้ำหนักถึง 2,000 ปอนด์ ถูกอะไรบางอย่างโจมตีที่ขาหลังและสะโพก จนเกือบจะถูกลากลงไปในน้ำ แม้จะรอดมาได้ด้วยเชือกที่เจ้าของผูกจูงไว้ แต่ด้วยแผลที่ฉกรรจ์ แม้ภายนอกจะหายสนิทแล้ว แต่กล้ามเนื้อภายในคงยังเสียหาย จนไม่อาจใช้เป็นม้าแข่งได้อีกต่อไป ภาพของบาดแผลผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าเป็นการโจมตีของปลาฉลามหัวบาตร[4]

นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานอื่น ๆ มาจากหลายส่วนของโลก เช่น อินเดีย และทะเลสาบมิชิแกน และแม่น้ำมิสซิปซิปปี ในสหรัฐอเมริกา หรือทะเลสาบน้ำจืด ในฟิลิปปินส์ ที่พบว่าปลาฉลามหัวบาตรทำร้ายมนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยง แม้กระทั่งกัดกินศพที่ลอยน้ำมาด้วย

ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2015 มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวออสเตรเลียลงเล่นน้ำทะเลที่หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต ถูกสัตว์ทะเลบางอย่างทำร้ายจนมีแผลเหวอะที่เท้าซ้าย สันนิษฐานว่าเป็นปลาฉลาม และน่าจะเป็นปลาฉลามหัวบาตร[8] แต่ในประเทศไทย จัดว่าพบปลาฉลามหัวบาตรน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่พบในแนวปะการังซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่[3] ส่วนในน้ำจืดพบได้น้อยมาก และเป็นปลาขนาดเล็ก เช่น แม่น้ำสาละวิน หรือแม่น้ำแม่กลอง [3] [4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปลาฉลามหัวบาตร http://news.nationalgeographic.com/news/2002/08/08... http://news.sanook.com/1858590/ http://www.seesantv.com/playnow_noadd.php?id=65121 http://www.youtube.com/watch?v=VaxNiv-4hCw&feature... http://www.youtube.com/watch?v=aBbTY0qelME&feature... http://www.youtube.com/watch?v=yqs3T2vlA5Q http://www.itis.gov/servlet/SingleRpt/SingleRpt?se... http://www.fishbase.org/summary/SpeciesSummary.php... http://www.iucnredlist.org/apps/redlist/details/39... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Carcha...