ปลาชะโดอินเดีย
ปลาชะโดอินเดีย

ปลาชะโดอินเดีย

ปลาชะโดอินเดีย (อังกฤษ: Malabar snakehead; ชื่อวิทยาศาสตร์: Channa diplogramme) ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae)ปลาชะโดอินเดีย มีลักษณะคล้ายกับปลาชะโด (C. micropeltes) ที่พบในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยถูกค้นพบครั้งแรกและอนุกรมวิธานโดย ฟรานซิส เดย์ นักมีนวิทยาชาวอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1865 ในชื่อ Ophiocephalus diplogramma ซึ่งเก็บตัวอย่างแรก ได้จากใกล้ปากแม่น้ำโคชิน และถูกเข้าใจมาตลอดว่าเป็นชนิดเดียวกับปลาชะโด ทำให้ชื่อนี้กลายเป็นชื่อพ้องของปลาชะโดมาโดยตลอดจนกระทั่งในปี ค.ศ. 2011 ได้มีการศึกษาใหม่โดยนักมีนวิทยาในยุคปัจจุบัน พบว่าแท้จริงแล้วเป็นชนิดใหม่ จึงได้ประกาศให้เป็นชนิดใหม่มานับแต่นั้นปลาชะโดอินเดีย มีลักษณะแตกต่างไปจากปลาชะโดอย่างมาก เช่น จำนวนก้านครีบ, เกล็ดข้างเส้นข้างลำตัว, จำนวนข้อกระดูกสันหลัง, ความยาวจากส่วนหัวไปยังทวาร และความลึกของลำตัว เป็นต้น รวมถึง รูปร่าง และสีสันลำตัวด้วย แต่โดยรวมแล้ว ปลาชะโดอินเดียจะมีลักษณะส่วนหัวและจะงอยปากด้านบนที่ลาดยาวกว่า เมื่อเทียบขนาดของส่วนหัวโดยวัดจากปลายปากไปยังช่องเปิดเหงือกเทียบกับความยาวลำตัวจะพบว่า ปลาชะโดอินเดียจะมีส่วนหัวยาวกว่าปลาชะโดเล็กน้อย และมีรูปร่างที่ป้อมสั้นกว่า เมื่อยังเป็นลูกปลาวัยอ่อน (ราว 4-8 นิ้ว) ปลาชะโดอินเดียจะมีลายแถบสีคล้ำสองเส้นที่ข้างลำตัวที่บาง และจางกว่า และแถบสีเหลืองกลางลำตัวที่เห็นได้ชัดเจนในปลาชะโด แทบจะไม่เห็นเลยในปลาชะโดอินเดีย อีกทั้งครีบหางของปลาชะโดจะเป็นสีส้มเข้มเกือบแดง ขณะที่ปลาชะโดอินเดียจะเป็นสีส้มอ่อน ๆ เท่านั้น และเมื่อเป็นปลาโตเต็มวัย ปลาชะโดอินเดียลำตัวบริเวณด้านหลังมีสีซีดจางกว่า รวมทั้งลวดลายที่เป็นบั้ง ๆ บนลำตัวที่มีรูปแบบที่ชัดเจนกว่า โดยจะเป็นบั้งขนาดใหญ่สีขาวสลับดำ สีลำตัวเป็นสีส้มตลอดทั้งตัวโดยรวม ขณะที่ส่วนท้องเป็นสีขาวปลาชะโดอินเดีย เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร นับว่าเล็กกว่าปลาชะโดพอสมควร แต่มีการพัฒนาการของลวดลายและเจริญเติบโตเร็วกว่า และมีพฤติกรรมที่ดุร้ายก้าวร้าวน้อยกว่า จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่น ที่พบได้เฉพาะภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของคาบสมุทรอินเดียเท่านั้น รวมถึงหลายแม่น้ำในรัฐเกรละ และบางแหล่งน้ำในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย จัดเป็นปลาที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์จากการแพร่กระจายพันธุ์ที่จำกัด จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และการคุกคามของมนุษย์ โดยพบได้ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำปลาชะโดอินเดีย เป็นปลาที่เป็นปลาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และเป็นปลาสวยงามที่ถือว่าหายาก และเพิ่งเข้าสู่วงการการค้าปลาสวยงามเมื่อไม่นานมานี้[2]