ปลาช่อนเชล

ปลาช่อนเชล หรือ ปลาช่อนบอร์นา หรือ ปลาช่อนแอมฟิเบียส (อังกฤษ: Chel snakehead, Borna snakehead[1]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Channa amphibeus) เป็นปลาช่อนชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) เป็นปลาที่อาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำเชล ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร ใกล้กับเชิงเทือกเขาหิมาลัยในภูฏานและปากีสถาน ซึ่งจะอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอุ่น ประมาณ 22-28 องศาเซลเซียสโดยคำว่า amphibeus ที่ใช้เป็นชื่อวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า มาจากพฤติกรรมการขึ้นเหนือน้ำและจับแมลงกินตามพื้นดินคล้ายสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ[2]นับเป็นปลาช่อนขนาดกลางที่มีความสวยงามอีกชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับ C. barca และ C. aurantimaculata ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน มีสีสันที่ใกล้เคียงกัน แต่ว่ามีจำนวนก้านครีบหลัง 50 ก้าน ก้านครีบก้น 35 ครีบ มีเกล็ดข้างลำตัวมากถึง 81 เกล็ด นับว่ามากกว่าชนิดอื่น ๆ ขนาดโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ซึ่งนับว่าเล็กกว่า 2 ชนิดข้างต้น[3]เป็นปลาช่อนที่หาได้ยากมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก โดยมีการระบุทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกจาก จอห์น แมคคลีแลนด์ แพทย์ชาวอังกฤษ ด้วยการวาดภาพ และมีการเปลี่ยนสถานะหลายครั้ง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1938 ได้มีการเก็บตัวอย่างปลาตัวจริงได้จากบริเวณใกล้เคียงแม่น้ำเชลหลายตัวอย่าง และในปี ค.ศ. 1991 ได้มีการศึกษาและกำหนดให้ปลาช่อนเชลยืนยันถึงการมีอยู่จริงอีกครั้ง และมีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างแน่ชัด จนกระทั่งปี ค.ศ. 2000 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา มุสิกสินธร นักมีนวิทยาชาวไทยแห่งคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ในประเทศอินเดียและใกล้เคียงศึกษาเรื่องปลาช่อนโดยเฉพาะ ได้เลือกตัวอย่างดองที่สมบูรณ์ตัวหนึ่งจากตัวอย่างที่เก็บได้ในครั้งนั้นมาหนึ่งตัวอย่างเพื่อกำหนดเป็นต้นแบบทดแทนต้นแบบเดิมซึ่งเป็นเพียงภาพวาดเท่านั้น[2]