การเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ของ ปลาปอมปาดัวร์

ไข่ปลาปอมปาดัวร์คู่ปลาในตู้เพาะขยายพันธุ์กับกระถางดินเผา

ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีสัสันสวยงามมาก จนได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งปลาตู้" ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันที่สวยงามหลากหลายกว่าสีสันตามธรรมชาติมากมาย เช่น หนังงู, ปอมฯ ห้าสี, ปอมฯ เจ็ดสี, บลูไดมอนด์, ปอมฯ ฝุ่น เป็นต้น แต่ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีความอ่อนไหวง่ายมากกับสภาพน้ำและสภาพอากาศ จึงจัดเป็นปลาชนิดหนึ่งที่เลี้ยงยากมาก จำเป็นต้องใช้ฮีตเตอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ จึงไม่เหมาะกับนักเลี้ยงปลามือใหม่

ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ในตู้เลี้ยงได้ โดยปลาจะวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ โดยมากผู้เลี้ยงจะใช้เป็นเครื่องปั้นดินเผา ก่อนปลาจะวางไข่ 3-4 วัน ปลาจะมีอาการสั่นทั้งตัวผู้และตัวเมีย ในวันที่ปลาวางไข่จะสามารถสังเกตได้โดยดูอาการทั้งตัวผู้และตัวเมียจะไม่ยอมออกห่างจากและช่วยกันแทะเล็มเครื่องปั้นดินเผาเพื่อทำความสะอาดตลอดเวลา จากนั้นตัวเมียจะวางไข่บนเครื่องปั้นดินเผาครั้งละ 15-30 ฟอง แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อลงบนไข่ แม่ปลาจะใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 2 ชั่วโมง วางไข่ 100-300 ฟอง ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัว 3 วัน หลังจากนั้นอีกราว 3 วัน ลูกปลาจะเริ่มเคลื่อนไหวได้ และจะมาเกาะกินเมือกบนตัวพ่อแม่ปลาเป็นอาหาร จนกระทั่งถึงวันที่ 17 ลูกปลาจึงมีขนาดโตขึ้นและเริ่มห่างจากพ่อแม่

โดยปลาปอมปาดัวร์ได้มีการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามครั้งแรกราวปี ค.ศ. 1930 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี แต่ในช่วงแรกยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ อันเนื่องจากขาดองค์ความรู้ต่าง ๆ การเพาะขยายพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์เกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ในราวปี ค.ศ. 1950-ค.ศ. 1960 พร้อม ๆ กับปลาสวยงามชนิดอื่น ๆ และปลาปอมปาดัวร์ก็ได้เดินทางมาสู่ประเทศไทยในฐานะปลาสวยงามเป็นครั้งแรกในยุคนั้น[4] [5]

ในปัจจุบัน ปลาปอมปาดัวร์สายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า ปลาป่า ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสวยงามในแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ยังเป็นปลาที่ต้องจับมาจากแหล่งน้ำในทวีปอเมริกาใต้ อันเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิม (ฤดูกาลจับปลาปอมปาดัวร์ในธรรมชาติเริ่มในช่วงปลายฤดูน้ำน้อย เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ ลดลงถึงระดับต่ำสุดในราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) จึงมีราคาซื้อขายที่แพงกว่าปลาปอมปาดัวร์ทั่วไป แต่การดูแลเลี้ยงดูทั่วไปก็เหมือนกัน[2]