ปลาพลวงหิน
ปลาพลวงหิน

ปลาพลวงหิน

ปลาพลวงหิน หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ปลาพลวง (อังกฤษ: Mahseer barb; ชื่อวิทยาศาสตร์: Neolissochilus stracheyi) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) จัดเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาว ด้านข้างแบน มีเกล็ดขนาดใหญ่ หัวเล็ก มีหนวด 2 คู่ อยู่ปากบนและมุมปาก ครีบหางเว้าเป็นแฉกลึก กระโดงหลังค่อนข้างสูงมีก้านแข็ง 1 อัน ครีบหูมีขนาดเล็ก ครีบท้องและครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ลำตัวมีสีน้ำตาล ปนเขียว สีของปลาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม บางแหล่งอาจจะมีสีน้ำตาลปนดำเข้ม มีแถบสีคล้ำพาดกลางลำตัวตามยาวไปใกล้โคนหาง ด้านท้องสีจาง ขนาดโดยประมาณ 60 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 1.5 เมตรอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่นับ 100 ตัวขึ้นไป ตามแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใสสะอาด เช่น บริเวณแหล่งน้ำเชิงภูเขา หรือตามลำธารน้ำตกต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาหารได้แก่ เมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นปลาใหญ่ที่มักไม่มีใครนำมารับประทาน เนื่องจากทานไปแล้วเกิดอาการมึนเมา จึงเชื่อว่าเป็นปลาเจ้า แต่ความจริงแล้ว ปลาชนิดนี้ได้สะสมพิษจากเมล็ดพืชที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย เช่นเดียวกับกรณีของปลาบ้า (Leptobarbus hoevenii) มีการรวบรวมลูกปลาจากธรรมชาติเพื่อขายส่งเป็นปลาสวยงามปลาพลวงหิน มีชื่อเรียกต่างออกไปตามภาษาถิ่นเช่น ภาคเหนือเรียก "ปลาพุง" หรือ "ปลามุง" บางพื้นที่เรียกว่า "ปลาจาด", "ปลายาด" หรือ "ปลาโพ" เป็นต้น และมีชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า "หญาเปอลา" ในประเทศไทยสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถพบปลาพลวงได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ น้ำตกตาดหลวง จังหวัดน่าน, น้ำตกพลิ้ว และ น้ำตกลำนารายณ์ จังหวัดจันทบุรี, อุทยานถ้ำปลาและอุทยานถ้ำธารลอด จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น[2]