ปลาแรดแม่น้ำโขง
ปลาแรดแม่น้ำโขง

ปลาแรดแม่น้ำโขง

ปลาแรดแม่น้ำโขง หรือ ปลาแรดเขี้ยว (อังกฤษ: Elephant ear gourami; ชื่อวิทยาศาสตร์: Osphronemus exodon) เป็นปลาแรดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae)มีรูปร่างคล้ายปลาแรดธรรมดา (O. goramy) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป หากแต่ปลาแรดแม่น้ำโขงนั้น จะพบเฉพาะในแม่น้ำโขงที่เดียวเท่านั้น มีความแตกต่างคือ มีลำตัวสีน้ำตาลแดงคล้ำ ครีบก้นแคบและเล็กกว่า และริมผีปากจะไม่สามารถสบกันจนสนิท จนเผยอให้เห็นซี่ฟันในปาก โดยเฉพาะฟันที่ริมฝีปากบน อันเป็นที่มาของชื่อ สันนิษฐานว่าเพื่อใช้สำหรับในการงับลูกไม้หรือผลไม้ต่าง ๆ ที่ตกลงไปในน้ำซึ่งเป็นอาหารหลักมีขนาดเมื่อโตเต็มที่เล็กกว่าปลาแรดธรรรมดา กล่าวคือ ประมาณ 40 เซนติเมตร เท่านั้น โดยพบใหญ่ที่สุดประมาณ 2 ฟุตโดยปลาขนาดเล็กจะมีแถบสีส้มหรือสีแดงคล้ายคลึงกับปลาแรดแดง (O. laticlavius) มาก และไม่มีแถบแนวตั้งที่ชัดเจน หรือมีก็แค่จาง ๆ มีจุดสีดำขนาดใหญ่ที่โคนหางเหนือครีบก้นชัดเจน มีส่วนหลังสีน้ำตาลเข้มและส่วนท้องสีจางกว่า นอกจากนี้แล้วปลาแรดแม่น้ำโขงยังมีกระดูกปิดเหงือก เมื่อเทียบกับขนาดตัวใหญ่กว่าปลาแรดชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ตัวผู้มีหัวโหนกนูน ขากรรไกร และริมฝีปากหนาและใหญ่กว่าตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียจะมีจุดสีดำบริเวณโคนครีบอก ซึ่งตัวผู้ไม่มีจากการสำรวจของ ดร.ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาผู้อนุกรมวิธานปลาแรดแม่น้ำโขง พบว่า ปลาแรดแม่น้ำโขงจะไม่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลัก แต่จะอาศัยอยู่ตามบึงหรือหนองน้ำที่เป็นสาขามากกว่า โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เว้นแต่ในช่วงฤดูแล้งที่น้ำเหือดแห้ง ปลาจะอพยพลงสู่แม่น้ำสายหลัก ในฝั่งของชายแดนไทยจะพบได้น้อยมาก จะพบได้ในเขตของกัมพูชา และลาวมากกว่า นอกจากนี้แล้ว ปลาที่พบขายในตลาดสดของเมืองสตรึงเตร็งทางตอนเหนือของกัมพูชา จะมีลักษณะเกล็ดสีแดงเข้มในพื้นที่บนลำตัวมากที่สุด จนดูเผิน ๆ เหมือนกับปลามีแผลช้ำเลือด ขณะที่ปลาจากแหล่งอื่น ๆ ไม่มีสีและลักษณะเกล็ดดังกล่าวจัดเป็นปลาที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง และนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม แต่ว่าปลาแรดแม่น้ำโขงนับเป็นปลาแรดที่อุปนิสัยดุร้าย ก้าวร้าวที่สุด เมื่อเลี้ยงรวมกันในสถานที่แคบ ๆ ปลาจะทำร้ายกัดกันได้จนถึงขั้นพิการหรือตายได้ และในฐานะของการเป็นปลาสวยงาม จัดว่าเป็นปลาที่มีราคาแพง เนื่องจากความยากในการเสาะหา อีกทั้งยังไม่เป็นที่นิยมของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำในต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากไม่เห็นถึงความแตกต่างกับปลาแรดธรรมดา จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาแปลก ๆ และหายากมากกว่า[2]