ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์
ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์

ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์

ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์ (อังกฤษ: New Zealand longfin eel; เมารี: Tuna; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anguilla dieffenbachii) ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จำพวกปลาตูหนา (Anguillidae)ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์ เป็นปลาตูหนาขนาดใหญ่ มีลักษณะที่แตกต่างจากปลาตูหนาชนิดอื่น ๆ จากครีบหลังที่ยาวกว่าครีบท้อง มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 180 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 18 กิโลกรัม โดยตัวที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลกเป็นตัวเมียอายุกว่า 106 ปี น้ำหนักกว่า 24 กิโลกรัม[1]เป็นปลาที่กระจายพันธุ์เฉพาะในแหล่งน้ำจืด ตามแม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบต่าง ๆ ของนิวซีแลนด์ ทั้งเกาะเหนือ และเกาะใต้ จัดเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตช้าที่สุดด้วย โดยในช่วงปีแรกลูกปลาจะมีความยาวเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น นอกจากนี้แล้วยังเป็นปลาที่มีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิต และจะตายหลังจากนั้น ซึ่งอายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้แก่ 23 ปี สำหรับตัวผู้ 24 ปี สำหรับตัวเมีย โดยว่ายน้ำอพยพไปวางไข่กลางมหาสมุทรแปซิฟิค ที่อยู่ไกลไปถึง 8,047 กิโลเมตร ในระหว่างการเดินทางนี้ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์จะเปลี่ยนตัวเองให้มีสีเข้มขึ้น ส่วนหัวเล็กลง และดวงตาโตขึ้นเกือบ 2 เท่า และไม่กินอาหาร เมื่อปลาตัวผู้ฉีดน้ำเชื้อผสมกับไข่ของตัวเมียแล้ว ทั้งคู่ก็จะตาย ก่อนที่ลูกปลาที่ฟักออกมาจะอพยพกลับมายังนิวซีแลนด์ตามสัญชาตญาณและกระแสน้ำในมหาสมุทร[1][2]ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์ เป็นปลาที่มีความสำคัญต่อชาวเมารี ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ โดยเป็นแหล่งอาหารที่เป็นโปรตีนที่สำคัญ จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญในการประมงและการเพาะเลี้ยง[1][3][4]มีเรื่องกล่าวขานกันว่า ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์สามารถที่จะทะลวงเข้าไปในทวารหนักของแกะที่อยู่บนฝั่ง และกัดกินอวัยวะที่อยู่ภายในได้ แต่ในความจริงแล้ว ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์เป็นปลากินเนื้อ กินสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น ปลา รวมถึงสัตว์ที่มีเปลือกแข็งเป็นอาหาร และเศษเนื้อหรือเลือดของสัตว์ที่ตายแล้วด้วย เมื่องับเหยื่อได้แล้วจะบิดตัวเหมือนสว่านได้ถึง 700 รอบต่อวินาที ซึ่งนับว่าเร็วกว่าสว่านไฟฟ้าเสียอีก[5]