การออกแบบและก่อสร้าง ของ ปอร์โตฟลาวีอา

ปอร์โตฟลาวีอาออกแบบโดยวิศวกรชาวอิตาลี เซซาเร เวเชลลี (Cesare Vecelli) โดยเจ้าของเหมืองต้องการปรับปรุงเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลิตภัณฑ์จากเหมืองขึ้นบนเรือกลไอน้ำ เวเชลลีทำการสำรวจพื้นที่ในแถบมาซูอา และพบกับหน้าผาสูงชันด้านหน้าของสแต็กที่ชื่อ ปันดีซุจเจโร (Pan di Zucchero) ทะเลตรงนี้ลึกพอและปลอดภัยดีจากลมและคลื่นลมทำให้สามารถทอดสมอได้ปลอดภัยในขณะที่ขนส่งแร่ลงมาจากหน้าผาโดยใช้แรงโน้มถ่วง[3]

หลังการสำรวจพื้นที่นานหนึ่งปีเต็ม เขาได้ออกแบบแผนโดยละเอียดสำหรับสร้างอุโมงค์สองอุโมงค์ที่วางซ้อนกัน (superimposed tunnels) แต่ละอุโมงค์มีความยาว 600 เมตร (2,000 ฟุต) และเชื่อมต่อเข้ากับพื้นที่เก็บแร่ที่ผ่านขบวนการแล้วจำนวนเก้าโถงลักษณะเป็นแนวตั้ง ในอุโมงค์อันบนมีติดตั้งรถไฟฟ้าเพื่อขนส่งจากปลายทางฝั่งหน้าผาไปยังพื้นที่เก็บแร่ แร่จะถูกเทออกมาโดยใช้แรงโน้มถ่วงลงบนโครงสร้างคล้ายประตูกักน้ำ (hatches) บนยอดของพื้นที่เก็บแร่ ส่วนในอุโมงค์ล่างเป็นสายพานสำหรับรับแร่จากที่เก็บแร่ไปยังสายพานตวามยาว 16-เมตร (52-ฟุต) ที่สามารถขนส่งแร่เต็มความจุของเรือกลไอน้ำได้ภายในสองวัน ส่วนที่เก็บแร่ที่เจาะเข้าไปในหินนั้นสามารถบรรจุแร่ได้ถึง 10,000 เมตริกตัน (11,000 short ton)[1]

ทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการระเบิดเหมืองแร่และปีนเขาได้ถูกว่าจ้างให้มาช่วยในการก่อสร้าง โดยทำงานกันเป็นกะกลางวันกับกลางคืนเพื่อให้สร้างเสร็จทันตามเวลาที่ตั้งไว้ ในการก่อสร้างนี้ มาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ได้ถูกละเลยอย่างหนักเพื่อให้สร้างเสร็จเร็ว กระนั้นก็ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้าง[4]