งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์สาขาหลัก ของ ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป

งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์สาขาหลักในอดีตที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป

งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์สมัยใหม่เริ่มต้นราวทศวรรษที่ 1950 โดยนักวิจัยปัญญาประดิษฐ์รุ่นแรกเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์แบบเข้มเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และน่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เฮอร์เบิร์ต ไซมอน เขียนไว้ในหนังสือเมื่อปี ค.ศ. 1965 ว่า "ภายใน 20 ปี เครื่องจักรจะสามารถทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้" ความเชื่อเหล่านี้นำไปสู่การแต่งนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังของอาร์เธอร์ ซี. คลาร์กเรื่องจอมจักรวาลที่กล่าวถึงตัวละครเป็นเครื่องจักรที่แสนฉลาดชื่อ HAL 9000

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์พัฒนาไปช้ากว่าที่คิดเพราะมองข้ามเรื่องความยากในการพัฒนาไป หน่วยงานหลายแห่งที่เคยให้การสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของปัญญาประดิษฐ์แบบเข้ม กลายเป็นแรงกดดันให้นักวิทยาศาสตร์หันมาพัฒนาเทคโนโลยีที่จับต้องได้และนำไปใช้ได้จริง จนกลายเป็นศาสตร์ของ ปัญญาประดิษฐ์แบบประยุกต์ (Applied AI) ขึ้นมา ต่อในในช่วงทศวรรษที่ 1980 ญี่ปุ่นเริ่มตั้งโครงการคอมพิวเตอร์รุ่นที่ 5 ทำให้ความสนใจด้านปัญญาประดิษฐ์แบบเข้มกลับคืนมาอีกครั้ง โดยญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในเวลา 10 ปีจะต้องมีระบบปัญญาประดิษฐ์แบบเข้มที่สามารถพูดคุยกับมนุษย์แบบปกติได้ การที่ปัญญาประดิษฐ์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จมาก ได้รับการสนับสนุนตจากภาครัฐและอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดของปัญญาประดิษฐ์ได้พังลงอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และในที่สุดระบบคอมพิวเตอร์รุ่นที่ 5 ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์แบบเข้มจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานเริ่มยอมรับว่าเข้าใจผิดในเชิงหลักการพื้นฐาน จนไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีที่เคยสัญญาเอาไว้ได้ นักวิจัยเริ่มไม่แน่ใจอนาคตของงานวิจัยด้านนี้และเริ่มเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ เพราะเกรงว่าจะทำให้ผู้คนขาดหวังเกินไป

งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์สาขาหลักในปัจจุบัน

ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และต้นศตวรรษที่ 21 นักวิจัยปัญญาประดิษฐ์สาขาหลักเริ่มประสบความสำเร็จในการสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงพาณิชย์ มีผลงานวิชาการออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญญาย่อยบางปัญหาและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ไม่ว่าจะเป็น โครงข่ายประสาทเทียม คอมพิวเตอร์วิทัศน์ หรือการทำเหมืองข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์เชิงประยุกต์เหล่านี้เริ่มแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆและงานวิจัยสายนี้ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนอย่างมาก ทั้งในวงการวิชาการและอุตสาหกรรม

งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์สาขาหลักเชื่อว่า ปัญญาประดิษฐ์แบบเข้มจะเกิดขึ้นได้จากจากรวมเอาโปรแกรมต่างๆที่แก้ไขปัญญาย่อยเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นสถาปัตยกรรมระบบผสมผสาน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้