ช่วงเวลาในปีใหม่เมือง ของ ปีใหม่เมือง

วันสังขานต์ล่อง

การนำ "ต้นสังขาร" ลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์[2]

วันสังขานต์ล่อง ปัจจุบันถือเอาวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสังขานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมประเพณีปีใหม่เมือง หลังเที่ยงคืนวันที่ 13 เมษายน จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันนี้สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน การทำความสะอาดเจ้าที่ ศาลพระภูมิ บางท้องถิ่นจะทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขานต์” แล้วพากันแห่ขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ แต่ในบางพื้นที่จะเตรียมเสื้อผ้า (เอาที่เป็นตัวแทน) ในแต่ละคนในครอบครัวไปทำพิธีในวัดวันนี้โดยพับเสื้อผ้าให้เรียบร้อยใส่ในสลุงหรือตะกร้าแล้วนำสตวง (อ่านว่า สะ-ตวง) ไปวางทับอีกทีแล้วไปทำพิธีในวัด เมื่อเสร็จจะเอาผ้าไปสะบัดที่แม่น้ำเชื่อว่าเป็นการสะบัดเคราะห์ บางพื้นที่จะมีการนำเชือกสายสินธ์ุของแต่ละครอบครัวเช่นในครอบครัวมี 5 คนก็นำเชือกมา 5 เส้นมา เชือกนั้นจะชุบน้ำมันเพื่อนำไปเผาเวลาทำพิธี และในวันนี้จะมีการสระเกล้า สระผมของตัวเองตามทิศที่เป็นมงคลซึ่งจะบอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองวันนี้สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน บางท้องถิ่นจะทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขาร” แล้วพากันแห่ขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์[3][4][5]

วันเน่าหรือวันเนาว์

วันเน่าหรือวันเนาว์ เป็นวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่สองของประเพณีปีใหม่เมือง ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น "วันดา" คือวันที่ต้องเตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน เด็กๆ บ่าว สาว ผู้เฒ่าผู้แก่ จะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำ เข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี เชื่อว่าถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี และในวันนี้จะเป็นวันเตรียมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเพณี เช่นของดำหัว เครื่องทำขึ้นต้าวตังสี่เป็นต้น[6][7][8]

วันพญาวัน

การนำ "ไม้ค้ำ" มาค้ำต้นไม้ในวัดหมายถึงการค้ำจูนชีวิต

วันพญาวัน เป็นวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ทานขันข้าว” (อ่านเสียงล้านนา “ตานขันเข้า”) หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และคนเฒ่าคนแก่ก็อยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่

ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ วันนี้คนล้านนาจะทัดดอกไม้นามปี เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิตนอกจากนี้ ยังนิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ เป็นต้นว่า มนต์คาถา สักยันต์ หรือทำพิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ครู และในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระศาสนา และค้ำชูอุดหนุนให้แก่ชีวิตเจริญรุ่งเรือง[9][10][11]

วันปากปี

การจุดเทียนปู่จา (บูชา) การขึ้นต้าวตังสี่ (พรมสี่หน้า) เพื่อความสิริมงคล

วันปากปี เป็นวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่เมือง ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว

ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันปากปี ชาวล้านนาจะกิน “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” กันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปีของคนล้านนา และในตอนเย็นในบางพื้นที่ (บางพื้นที่อาจไม่กระทำ) จะมีการขึ้นต๊าวตังสี่หรือท้าวทั้งสี่ (เทพสี่องค์อันหมายถึงท้าวจตุโลกบาลซึ่งปกครองรักษาในทิศทั้งสี่) มีลักษณะเป็นเสามีไม้ขัดกันเป็นสี่มุม แต่ละมุมจะมีใบตองที่ใส่เครื่องบูชาทั้งสี่ด้านหรือเรียกว่า ควัก ในทางภาษาล้านนา รวมทั้งที่ด้านล่างบนพื้นดินก็จะมีอีกหนึ่งอันเพื่อบูชาพระแม่ธรณี เชื่อว่าจะเกิดสิริมงคต่อบ้าน การกระทำนี้จะทำกันเป็น หม้ง หรือแปลว่า บ้านที่อาศัยร่วมกันใกล้เคียงที่ไม่มีรั้วกั้นเหมือนเป็นวงเดียวกัน ถ้ามีรั้วกั้นจะถือว่าอีก หม้ง แต่ละหม้งก็จะมีต้าวตังสี่อยู่ ผู้ที่กระทำพิธีภาคเหนือเรียก ปู๋จ๋านหรือมัคทายกนั้นเองและในวันนี้จะมีการบูชาเทียนปีใหม่ในช่วงค่ำขึ้นมาอีกเวลา จะเป็นพิธีกรรมในส่วนของครอบครัวที่จะกระทำกันในบ้านเรือนของตน พิธีกรรมดังกล่าวคือ การจุดเทียนบูชาบ้านเรือนหรือคนล้านนาเรียกว่า ต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้าโดยเทียนดังกล่าวจะมีอยู่สามเล่ม คือ เทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ โดยมีการปลุกเสกโดยพระหรือมัคทายก (ปู่จ๋าน) บางท้องถิ่นจะมีการ "ต๋ามขี้สายเท่าอายุ" (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ) ขี้สายหรือเส้นไฟนี้จะทำมาจากเส้นด้ายพื้นเมือง นำไปชุบขี้ผึ้งหรือไขมัน หรือน้ำมันมะพร้าว ปัจจุบันนิยมชุบน้ำมันพืชที่ใช้ในครัวเพราะง่ายดี พอค่ำลง ก็จะเอาขี้สายเท่าอายุไปจุดบูชาที่ลานพระธาตุเจดีย์ในวัด หรืออาจจุดที่ลานทรายหน้าพระวิหาร ตรงที่สายตาพระเจ้าตก หรืออาจจุดที่ลานบ้านของตัวเองก็ได้ การต๋ามขี้สายเท่าอายุนี้ บางท่านก็ว่า เป็นการเผาอายุสังขารเก่าให้พ้นไป บางท่านก็ว่าเป็นการเผาเสนียดจัญไร อุบาทว์ อาถรรพณ์ ขึดขวงต่างๆ ที่ติดตัวเรามาให้หมดสิ้นไป บางท้องถิ่นก็ให้เพิ่มขี้สายไปอีกเส้นหนึ่ง ถือว่าเป็นการสืบชะตาตัวเรา ให้รุ่งเรืองรุ่งโรจน์ประดุจเปลวไฟในปีใหม่ที่มาถึงนี้ [12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปีใหม่เมือง http://library.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/newsy... http://www2.it.mju.ac.th/dbresearch/raen/index.php... http://www2.it.mju.ac.th/dbresearch/raen/index.php... http://www.autobacs.co.th/calendar/guide/%E0%B8%8A... http://www.banmuang.co.th/2013/04/%E0%B8%9B%E0%B8%... http://www.openbase.in.th/node/649 http://www.openbase.in.th/node/6493 https://www.facebook.com/134776203266856/photos/pb... https://sites.google.com/site/wwwpraphenipihimmeux...