ที่มาของเพลงสิบสองภาษา ของ ปี่พาทย์ออกสิบสองภาษา

เพลงไทยที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชื่อเพลงเหล่านี้มักใช้ชื่อตามภาษาเดิม เช่นเพลงเนรปาตี ปะตง มัดตรำ บ้าระบุ่น จนเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีการนำเพลงเหล่านี้มาปรับปรุงทำนองและตั้งชื่อเพลงที่ปรับปรุงใหม่ด้วยการนำชื่อชนชาติที่เป็นเจ้าของสำเนียงนั้นมานำหน้า เช่น ลาวเจริญศรี เขมรพระประทุม จีนหลวง เป็นต้น

เมื่อเพลงสำเนียงภาษาต่าง ๆ มีมากขึ้น นักดนตรีไทยจึงนำเพลงออกภาษาเล่านั้นมาบรรเลงติดต่อกันเป็นชุด โดยเริ่มจากเพลงสำเนียงไทยแล้วตามด้วยสำเนียงลาว เขมร มอญ พม่า ไปเรื่อย ๆ จนถึงฝรั่งเป็นชาติสุดท้าย ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง นิยมเล่นในงานศพเพื่อให้มีความสนุกสนานเร้าใจ บางครั้งจะมีจำอวดหรือตลกออกมาแสดงท่าทางตามชนชาติต่าง ๆ ด้วย การเล่นนี้เรียกว่าสิบสองภาษาแต่ไม่จำเป็นต้องออกภาษา 12 สำเนียง จะบรรเลงมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ เพราะเลข 12 เป็นจำนวนศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนโบราณ เช่นใช้ว่าพระเจ้าแผ่นดินมี 12 ท้องพระคลัง พ่อค้าวานิชจาก 12 ชาติภาษา โดยไม่ได้สื่อถึงการใช้เป็นจำนวนนับ