เนื้อหา ของ ปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา

โดยเหตุที่พระอภิธรรมปิฎก มีเนื้อหาเป็นข้อธรรมล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคล จึงมีความยากที่จะทำความเข้าใจ พระอรรถกถาจารย์จึงต้องมีการขยายความเนื้อหาในปกรณ์ หรือพระอภิธรรมปิฎกเล่มต่างๆ ด้วยการเสริมเนื้อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อธรรมนั้นๆ พน้อมทั้งมีการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงความลึกซึ้งของพระอภิธรรมปิฎกได้มากขึ้น ซึ่งเนื้อหาสาระที่สำคัญที่สุดของปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถานั้น ย่อมเป็นการอธิบายและขนายความลักษณะบุคคลประเภทพต่างๆ ที่ปรากฏในหลักคำสอนทางพุทธศาสนา นั่นเอง

ในปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา พระพุทธโฆสะ มีทั้งการขยายความเนื้อหาในคัมภีร์ทั้งในแง่สารัตถะ และในแง่นิยามความหมายของคำศัพท์และประโยชคที่ปรากฏในคัมภีร์ โดยตัวอย่างการอธิบายเนื้อหาสาระ หรือการเพิ่มเติมจากสารตถะเดิมของคัมภีร์นั้น เช่นในอรรถกถาภยูปรตบุคคล ท่านผู้รจนาได้อธิบายเพิ่มเติมจนเกิดความกระจ่างว่า "ภยูปรตบุคคล" หรือ "บุคคลผู้งดเว้นเพราะกลัว" หมายถึงผู้ใดบ้าง และเหตุใดจึงงดเง้นเพราะความกลัว หรือเพราะความกลัวในสิ่งใดจึงงดเว้นไม่กระทำการเช่นนั้นๆ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

"พระเสกขบุคคล 7 พวก กับ ปุถุชนทั้งหลายผู้มีศีล กลัวแล้วย่อมงดเว้นจากบาป คือ ไม่กระทำบาป.บรรดาพระอริยะและปุถุชนทั้งหลาย ย่อมกลัวภัย 4 อย่างคือ 1. ทุคคติภัย 2. วัฏฏภัย 3. กิเลสภัย 4. อุปวาทภัย ในภัยเหล่านั้น ภัย คือ การไปสู่คติชั่ว ชื่อว่า ทุคคติภัย เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงกลัว. แม้ในภัยทั้ง 3 ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ในท่านเหล่านั้นปุถุชนกลัวทุคคติภัยด้วยคิดว่า ถ้าท่านจักทำบาปไซร้ อบายทั้ง 4 จักเป็นเช่นกับงูเหลือมกำลังหิวกระหายอ้าปากคอยท่าอยู่ ท่านเมื่อเสวยทุกข์อยู่ในอบายเหล่านั้นจักทำอย่างไร ? จึงไม่ทำบาป. ก็สังสารวัฏมีเบื้องต้นและที่สุดอันรู้มิได้นั่นแหละ ชื่อว่า วัฏฏภัย. อกุศลแม้ทั้งปวง ชื่อว่า กิเลสภัย.การติเตียน ชื่อว่า อุปวาทภัย. ปุถุชนกลัวภัยเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำบาป แต่พระเสกขะ 3 จำพวก คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ทั้ง 3 นี้ล่วงพ้นจากทุคคติภัย ได้แล้ว จึงยังกลัวภัยทั้ง 3 ที่เหลืออยู่ ย่อมไม่การทำบาป. พระเสกขะผู้ตั้งอยู่ในมรรค ชื่อว่า ผู้งดเว้นจากภัย ด้วยอำนาจแห่งการบรรลุ หรือเพราะความเป็นผู้ตัดภัยยังไม่ขาด. พระขีณาสพ ชื่อว่า อภยูปรตบุคคล ท่านไม่กลัวภัยแม้สักอย่างหนึ่งในภัยทั้ง 4 เหล่านั้น. จริงอยู่ พระขีณาสพ ท่านตัดภัยได้ขาดแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อภยูปรโต" ผู้งดเว้นความชั่วมิใช่เพราะความกลัวภัย. ถามว่า ท่านก็ย่อมไม่กลัวแม้แต่ อุปวาทภัย ภัยคือการติเตียนหรือ ? ตอบว่า ไม่กลัว แต่ไม่ควรกล่าวว่า ท่านรักษาอุปวาทภัย ข้อนี้บัณฑิตพึงเห็นเหมือนพระขีณาสพเถระในบ้านโทณุปปลวาปี เป็นตัวอย่าง." [5]

ตัวอย่างการอธิบายในแง่นิยามความหมายของคำศัพท์และประโยชคที่ปรากฏในคัมภีร์ เช่น ในอรรถกถาเอกกนิทเทส สมยวิมุตตบุคคล พระอรรถกถาจารย์ได้ทำการแจกแจงและอธิบายประโยคในเนื้อความที่ว่า "กตโม จปุคฺคโล สมยวิมุตฺโต" หรือ "สมยวิมุตตบุคคล บุคคลผู้พ้นแล้วในสมัย เป็นไฉน?" ท่านได้แจกแจงดังนี้

"ในคำเหล่านั้น คำว่า อิธ ได้แก่ ในสัตวโลก. คำว่าเอกจฺโจ ปุคฺคโล ได้แก่ บุคคลคนหนึ่ง. ในคำว่า กาเลน กาลํ นี้พึงทราบเนื้อความด้วยสัตตมีวิภัตติ. อธิบายว่า ในกาลหนึ่ง ๆ คำว่า " สมเยนสมยํ" นี้เป็นไวพจน์ของคำก่อนนั้นแหละ (คือเป็นไวพจน์ของคำว่า กาเลนกาลํ) คำว่า "อฏฺฐ วิโมกฺเข" ได้แก่ สมาบัติ 8 อันเป็นรูปาวจร และอรูปาวจรฌาน. จริงอยู่ คำว่า วิโมกข์ นี้เป็นชื่อของสมาบัติ 8 เหล่านั้นเพราะพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลาย. คำว่า "กาเยน" ได้แก่ นามกายที่เกิดพร้อมกับวิโมกข์. คำว่า "ผุสิตฺวา วิหรติ" ได้แก่ ได้สมาบัติแล้ว จึงผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่" [6]