ข้อมูลด้านนิเวศวิทยา ของ ผกากรอง

พืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน

ผกากรองเป็นวัชพืชที่พบได้ตามทุ่งหญ้าทั่วไป มักอยู่เป็นพุ่มต่ำ คอยขยายเผ่าพันธุ์และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่ผกากรองได้เติบโตอยู่ เมื่อพุ่มของผกากรองเติบโตหนาแน่นมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออัตาการขยายตัวของป่าไม้ที่จะลดลงไปเนื่องจากต้นผกากรองจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่น

แม้ว่าผกากรองจะเป็นพืชที่ทนต่อไฟป่า แต่ผกากรองสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกิดไฟป่าให้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยต้นผกากรองจะมีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ไฟป่าลุกลามไปถึงบริเวณเรือนยอด ซึ่งมักจะเกิดได้ในบริเวณที่แห้งแล้งที่ไฟสามารถลุกลามไปได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นถูกทำลายได้

พุ่มของต้นผกากรองจะไปยับยั้งการเติบโตของพืชไร่ทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยากขึ้น และยังก่อให้เกิดผลกระทบตามมา คือ การที่ยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย และแมลงวันเซทซีซึ่งเป็นพาหะนำโรคเหงาหลับ มาหลบอาศัยอยู่ในพุ่มผกากรองอีกด้วย[7]

สาเหตุที่ผกากรองประสบความสำเร็จในการรุกรานไปยังพื้นที่ต่างๆนั้น ประกอบด้วย[7]

1. มีสัตว์หลายชนิดที่กินผลของผกากรองแล้วแพร่กระจายเมล็ดไปยังพื้นที่อื่นเป็นวงกว้าง

2. ต้นผกากรองมีความเป็นพิษ จึงไม่มีสัตว์มากินเป็นอาหาร

3. ทนต่อสภาวะแวดล้อมที่หลากหลาย

4. การตัดไม้ซุง และการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นผกากรอง

5. ต้นผกากรองมีการสร้างสารยับยั้งการเจริญต่อพืชชนิดอื่น

6. มีการเพิ่มจำนวนเมล็ดได้อย่างรวดเร็วมาก (ประมาณ 12,000 เมล็ด ต่อต้น ต่อปี)

การรุกรานในประเทศไทย

ผกากรองบางสายพันธุ์เป็นวัชพืชที่พบได้ทั่วประเทศ พบการระบาดน้อยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกาญจนบุรี[8]

การควบคุมจำนวน

หากพื้นที่ไม่กว้างใหญ่นักให้ใช้วิธีถางและขุดเอารากออก อาจใช้สารเคมีในการกำจัด บางพื้นที่มีการขุดต้นผกากรองในธรรมชาติมาปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงามได้[8]