ผักกาดกบ

ผักกาดกบ ชื่อวิทยาศาสตร์: Gynura pseudochina (L.) DC. เป็นพืชในวงศ์ Compositae ชื่ออื่นๆได้แก่ คำโคก ผักกาดดง ผักกาดนกเขา หนาดแห้ง ผักกาดดิน เป็น พืชล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นสั้น เป็นเหลี่ยม อวบน้ำ ตั้งตรง มีเหง้าใต้ดินขนาดใหญ่ ปลายยอดมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับชิดกัน เป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน โคนใบสอบเรียวแคบ ขอบใบจักเว้าเหมือนซี่ฟัน ผิวใบด้านบนสีม่วงสลับเขียว มีขนสั้นกระจาย แผ่นใบหนาอวบน้ำ ก้านใบสั้นหรือไม่มีก้านใบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายยอด กลีบดอกสีเหลือง รูปหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายแฉกด้านหลังมีปุ่มเล็ก มี 60-70 ดอก ก้านช่อ ฐานดอกแบน ก้านช่อดอกมีขนสีขาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ มี 5 อัน อับเรณูปลายมน เกสรเพศเมีย มีขนสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก เกลี้ยง วงใบประดับมี 2 ชั้น ชั้นนอกแยกกัน รูปแถบ วงใบประดับวงใน 10-15 ใบ รูปใบหอก ปลายแหลม มีขนประปราย หรือเกือบเกลี้ยงตรงกลางใบ ผลแห้ง รูปทรงกระบอก มีรยางค์ 10 เส้น เมล็ดล่อน ออกดอกช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม[1]ผักกาดกบเป็นพืชสมุนไพร ทั้งต้นใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดและบวม เป็นยาพอกเนื้องอกที่เต้านม แก้โรคไฟลามทุ่ง น้ำคั้นใบเป็นยาอมกลั้วคอ แก้เจ็บคอ เหง้า ใช้เป็นยาแก้ช้ำใน ห้ามเลือด แก้โรคบิด รักษาแผลอักเสบ แก้มดลูกอักเสบ ขับประจำเดือน แก้ไข้ รากและใบสด ตำพอกแก้ปวดบวม ทางจังหวัดนครราชสีมา ใช้ เหง้า แก้ไข้ แก้บิด รักษาแผลอักเสบ ขับประจำเดือนหลังคลอดบุตร ทั้งต้น ตำเป็นยาพอก บรรเทาปวดบวม ในอินโดจีน ใช้ใบพอกลดอาการบวม ฝี หรือถอนพิษ อาการปวดแสบปวดร้อน เหง้า ใช้กินรักษาพิษไข้ กระสับกระส่าย ส่วนในเกาะชวา ใช้ รากเป็นยา เมื่อระบบหมุนเวียนโลหิตไม่ปกติ[2]