ผิวหนัง
ผิวหนัง

ผิวหนัง

ผิวหนัง คือ สิ่งปกคลุมชั้นนอกที่อ่อนของสัตว์มีกระดูกสันหลัง สิ่งปกคลุมสัตว์อื่น เช่น โครงร่างแข็งภายนอกของสัตว์ขาปล้องมีจุดกำเนิดการเจริญ โครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมีต่างออกไป ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผิวหนังเป็นอวัยวะใหญ่สุดของระบบผิวหนัง ซึ่งประกอบขึ้นจากเนื้อเยื่อเอ็กโทเดิร์มหลายชั้น และป้องกันกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็นและอวัยวะภายในที่อยู่ข้างใต้[1] สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดมีขนที่ผิวหนังด้วย ผิวหนังเป็นส่วนที่เปิดออกสู่สิ่งแวดล้อมและเป็นด่านป้องกันด่านแรกจากปัจจัยภายนอก ตัวอย่างเช่น ผิวหนังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องร่างกายจากจุลชีพก่อโรค[2] และการสูญเสียน้ำมากเกินไป[3] หน้าที่อื่น คือ เป็นฉนวน ควบคุมอุณหภูมิ รับความรู้สึกและผลิตโฟเลตวิตามินดี ผิวหนังที่เสียหายรุนแรงอาจหายโดยเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็น บางครั้ง ผิวหนังอาจเปลี่ยนสีและเกิดเป็นรอยด่างขาวได้ ความหนาของผิวหนังแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างเช่น ในมนุษย์ ผิวหนังใต้ตาและรอบหนังตาเป็นผิวหนังที่บางที่สุดในร่างกาย โดยหนา 0.5 มิลลิเมตร และเป็นบริเวณแรก ๆ ที่แสดงสัญญาณการเปลี่ยนตามวัย เช่น "รอยตีนกา" และรอยเหี่ยวย่น ผิวหนังบนฝ่ามือและฝ่าเท้าหนา 4 มิลลิเมตรและเป็นผิวหนังที่หนาที่สุดในร่างกาย ความเร็วและคุณภาพของการสมานแผลในผิวหนังได้รับการสนับสนุนจากการรับเอสโตรเจน[4] [5] [6]