ความเป็นมา ของ ผู้ซุ่มอ่านข่าว

นับแต่เริ่มมีการคมนาคมโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อขึ้นมา ก็มีการซุ่มเกิดขึ้นในหมู่สมาชิกประชาคมแต่ละแห่งแล้ว[4] ส่วนคำว่า "lurk" (ซุ่ม) ในภาษาอังกฤษนั้นปรากฏว่า ใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 14[7] คำนี้เดิมหมายถึงบุคคลที่ซ่อนตัวอยู่โดยมีเจตนาไม่พึงประสงค์ ต่อมาในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1890 ก็เริ่มมีการใช้คำ "lurk" ในระบบอินเทอร์เน็ตเมื่อระบบกระดานข่าวเกิดเป็นที่นิยมขึ้นมา กระดานข่าวดังกล่าวมักเข้าถึงได้ผ่านสายโทรศัพท์ที่บุคคลโทรศัพท์ไปอัปโหลดไฟล์หรือเขียนเนื้อความเผยแพร่[8] แต่ผู้ซุ่มอ่านข่าวเงียบ ๆ มักส่งผลให้สายโทรศัพท์ไม่ว่างเป็นเวลานาน และไม่เกิดสิ่งใหม่ขึ้นบนกระดานข่าว ผู้ดูแลระบบจึงมักมองเป็นพฤติกรรมลบ แล้วปิดกั้นผู้ซุ่มจากกระดานข่าวนั้นเสีย

ปัจจุบัน มีมุมมองทั้งดีและไม่ดีต่อผู้ซุ่ม ประชาคมส่วนใหญ่ยังคงถือว่า ผู้ซุ่มเป็น "ผู้บริโภคโดยไม่ยอมเสียเงิน" (free rider)[9] เพราะเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์ไปโดยไม่สร้างประโยชน์ตอบแทน[10] แต่ประชาคมบางแห่งก็ชี้ชวนให้หน้าใหม่คอยซุ่มไว้ก่อน[11] เพราะจะได้ใช้เวลาเรียนรู้วัฒนธรรมของประชาคมนั้น ๆ ทำความเข้าใจบรรทัดฐานในประชาคม และคุ้นเคยกับขาประจำมากขึ้น[12] นอกจากนี้ ทัศนคติแง่ดีเกี่ยวกับผู้ซุ่มยังเกิดขึ้นเพราะผู้ซุ่มช่วยเพิ่มจำนวนผู้ชม[4]

การสืบหาหลักแหล่งผู้ซุ่มนั้นทำได้ยากในประชาคมที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อ[4] เพราะบทบาทหลักของผู้ซุ่ม คือ อ่านอย่างเดียว จึงไม่มีร่องรอยอันใดให้ใช้ตรวจสอบได้ อนึ่ง ในประชาคมแบบโอเพนซอร์ส (open source) นั้น มีการประเมินว่า มีผู้ซุ่มอยู่ราวร้อยละ 50 ถึง 90 ของผู้ชมทั้งหมด ไม่ว่า ณ เวลาใดก็ตาม[13] สถิติอันนี้สอดคล้องหลักการเรื่อง 90-9-1 (ขึ้นอยู่กับประชาคมแต่ละแห่ง)