ประวัติ ของ พจนานุกรม_ฉบับราชบัณฑิตยสถาน_พ.ศ._2554

คณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้เริ่มปรับปรุงพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546[2] โดยนอกจากจะแก้ไขตัวสะกดและบทนิยามของคำศัพท์ที่มีอยู่ในพจนานุกรมฉบับก่อน ๆ แล้ว คณะกรรมการฯ ยังได้เพิ่มเติมบทนิยามคำศัพท์ทั่วไปและคำภาษาปากจำนวนหนึ่งซึ่งมีใช้ในภาษาไทยและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ยังไม่เคยปรากฏในพจนานุกรม เช่น เครื่องดื่ม แซ็ว ตลาดนัดแรงงาน ตัดต่อ ตัวสำรอง ผัดฉ่า วัตถุมงคล สปา ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รวมทั้งคำศัพท์จากสาขาวิชาที่มีความสำคัญ ได้แก่ ศัพท์พรรณพืช ศัพท์พรรณสัตว์ ศัพท์ประวัติศาสตร์ ศัพท์กฎหมายไทย ศัพท์ดนตรีไทย ศัพท์ดนตรีสากล และราชาศัพท์ และคำที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ในการพัฒนาเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา แก้มลิง แกล้งดิน โครงการตามพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ เป็นต้น[2] ทำให้พจนานุกรมฉบับล่าสุดนี้มีคำศัพท์เพิ่มจากฉบับ พ.ศ. 2542 ประมาณ 2,000 คำ รวมแล้วมีคำศัพท์ทั้งหมดประมาณ 39,000 คำ[3]

ในปี พ.ศ. 2555 กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ได้แถลงข่าวว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ชำระพจนานุกรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สนับสนุนงบประมาณจัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 100,000 เล่ม เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนแจกจ่ายสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา หน่วยงานราชการ คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง และจะคัดเลือกให้เอกชนเข้ามาใช้สิทธิ์ในการจัดพิมพ์และจำหน่ายฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ต่อไป[4][ลิงก์เสีย]

อนึ่ง แม้ว่าพจนานุกรมฉบับนี้จะได้รับการจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2556 แต่ก็ใช้ชื่อว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทยในปัจจุบัน[2]

ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกระเบียบการใช้ตัวสะกดตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 และให้ใช้ตัวสะกดตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นมาตรฐานการเขียนหนังสือไทยในวงราชการและวงการศึกษาแทน โดยลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556[1]

ต่อมาราชบัณฑิตยสถานได้เปิดให้ทดสอบระบบพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557[5] และเปิดให้ดาวน์โหลดโปรแกรมประยุกต์พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 สู่โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟนตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558[6]

ใกล้เคียง

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด พจนานุกรมภาษาไทย พจนานุกรม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมกฎหมาย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 พจนานุกรมคำใหม่ พจนานุกรมพุทธศาสนาจีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย พจนานุกรมคำสลับอักษร