ตำแหน่งพญา ของ พญาพรหมโวหาร

หนานพรหมินทร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพญาเมื่อใดไม่มีหลักฐาน อย่างน้อยที่สุดพรหมินทร์น่าจะมียศเป็นพญาพรหมวิไสย ในสมัยเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาเป็นเจ้าหลวงลำปาง ปรากฏหลักฐานในคร่าวซอพระอภัยมณีว่า

ศักดิ์นานาม ไขตามถี่ชั้น หื้อจริงแน่แจ้ง ใจใน
นามะทัต พรหมวิไสย อยู่ละคอรไชย โภยภัยบ่ต้อง
เพิ่งกุศล ร่มเงาฉัตรจ้อง ปองงานเมือง เจื่องท้าว
"คร่าวซอพระอภัยมณีแลสรีสุวัณ" ของ หนานพรหมินทร์

พระครูอดุลสีลกิติ์มีความเห็นว่าน่าจะเป็นจริง เพราะอาจารย์ของหนานพรหมินทร์คือพญาโลมาวิไสย เจ้าหลวงลำปางก็คงตั้งพระทัยให้ชื่อศิษย์กับอาจารย์พ้องกัน สำหรับตำแหน่งพญา ว่าได้มาเมื่อใด พระครูอดุลสีลกิติ์มีความเห็นว่าหนานพรหมินทร์น่าจะได้ตำแหน่งนี้เมื่ออายุ 46 ปี โดยเจ้าวรญาณรังษีเป็นผู้แต่งตั้ง[11] ส่วนมงคล ถูกนึกมีความเห็นว่าหนานพรหมินทร์อาจได้เป็นพญาในสมัยพระยาน้อยอินทร์ หรือสมัยที่หนานพรหมินทร์กลับมารับราชการที่เมืองลำปางอีกครั้งในสมัยเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาก็ได้[12]

ส่วนชื่อตำแหน่งราชทินนาม พระญาพรหมโวหาร นั้น ในหลักฐานร่วมสมัยปรากฏแต่เพียง พญาพรหมวิไสย กับ พญาพรหมปัญญา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสร้อย “โวหาร” นั้น อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากราชทินนามของ พระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่[13] ส่วนมงคล ถูกนึกมีความเห็นว่าอาจจะเป็น สมัญญานาม คำสร้อย หรือฉายาที่คนทั่วไปขนานนามให้หนานพรหมินทร์ เพราะเนื่องจากหนานพรหมินทร์เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน มีสำนวนโวหารเสมอ จึงเรียกว่า พระญาพรหมโวหาร ก็เป็นได้ [14]