ประวัติศาสตร์ ของ พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

ค.ศ. 1948-1971

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 โดยเป็นการสานต่อพรรคเสรีภาพที่เกิดจากพรรครัฐเสรีที่มาจากสหภาพเสรีนิยมอีกทอดหนึ่ง ในช่วงก่อตั้ง สมาชิกพรรคแรงงาน (PvdA) จำนวนหนึ่งนำโดยปีเตอร์ เอาด์ มองว่าพรรคแรงงานเรียกร้องสังคมนิยมมากเกินไป จึงได้ลาออกจากพรรคแรงงานและเข้าร่วมกับพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ปีเตอร์ เอาด์ ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

ระหว่าง ค.ศ. 1948 ถึง 1952 พรรคได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคแรงงานและพรรคประชาชนคาทอลิกในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิลเลิม ดรีส รัฐบาลผสมชุดนี้ดำเนินการจัดตั้งรัฐสวัสดิการขึ้นและรับรองการประกาศเอกราชของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์และจัดตั้งเป็นประเทศอินโดนีเซีย หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1952 แต่พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ได้คะแนนเสียงเพียงเล็กน้อย จึงไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1956 กระทั่งการเลือกตั้งในอีกสามปีต่อมา พรรคได้ที่นั่ง 19 ที่นั่ง จึงได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาชนคาทอลิก พรรคต่อต้านการปฏิวัติ และสหภาพประวัติศาสตร์คริสเตียน ในรัฐบาลยัน เดอ เคา

ในปี ค.ศ. 1963 ปีเตอร์ เอาด์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เอ็ดโซ โตกโซเปิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้ารับตำแหน่งแทน ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1963 แม้พรรคจะได้คะแนนเสียงลดลงแต่ก็ยังได้เข้าร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคบางส่วนเรียกร้องให้มีการปรับทิศทางเสรีนิยมของพรรคไปสู่เสรีนิยมแบบดั้งเดิม และความไม่ลงรอยนี้นำมาสู่การลาออกจากพรรคและจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อ ประชาธิปัตย์ 66 ในปี ค.ศ. 1966

ราวปี ค.ศ. 1965 รัฐมนตรีจากพรรคเกิดข้อขัดแย้งกับรัฐมนตรีร่วมกระทรวงจากพรรคประชาชนคาทอลิกและพรรคต่อต้านการปฏิวัติในรัฐบาลมาไรเนิน จึงมีการยุบและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยมีเพียงพรรคประชาชนคาทอลิก พรรคต่อต้านการปฏิวัติ และพรรคแรงงานร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีโย กัลส์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีการเลือกตั้ง แต่คณะรัฐมนตรีนี้ก็ไร้เสถียรภาพและถูกยุบเช่นกันในปีต่อมา จากนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1967 พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้รับคะแนนเสียงคงเดิมและได้เข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้งในรัฐบาลปีต เดอ โยง ในช่วงนี้ พรรคได้ลดความสัมพันธ์กับองค์กรเพื่อเสรีภาพอื่น ๆ และปรับอุดมการณ์ไปสู่ความเป็นกลางมากขึ้น

ค.ศ. 1971-1994

ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1971 พรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนนเสียลดลง จึงได้เชิญพรรคสังคมประชาธิปไตย 70 อันเป็นสาขาของพรรคแรงงานเข้าร่วมรัฐบาล แต่อยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็มีการยุบคณะรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่โดยไม่มีพรรคสังคมประชาธิปไตย 70 มีบาเรินด์ บีสเฮอเฟิล จากพรรคต่อต้านการปฏิวัติเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี ค.ศ. 1971 ฮันส์ วีเคิล นักการเมืองหนุ่มไฟแรงเริ่มได้รับความสนใจจากประชาชน ได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ก่อนจะได้รับตำแหน่งประธานสภาในปีนั้น ในยุคของวีเคิลนี้ พรรคได้มีการปฏิรูปสู่ค่านิยมทางการเมืองแบบใหม่ มีการปฏิรูปรัฐสวัสดิการ ส่งเสริมนโยบายลดหย่อยภาษี จึงได้รับความนิยมจากชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แนวคิดการเมืองแบบใหม่นี้นับว่าเป็นประโยชน์กับพรรค เพราะแม้พรรคจะแพ้การเลือกตั้งขาดลอยในปี ค.ศ. 1972 และไม่ได้ร่วมรัฐบาลโยป เดน เอาล์ แต่องค์กรที่เป็นกลางที่เป็นพันธมิตรกับพรรคมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ๆ จากนั้นในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1977 พรรคได้คะแนนไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่การเจรจาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเก่า (คริสเตียนประชาธิปไตย และประชาธิปไตยสังคมนิยม) ไม่ลงตัว พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยจึงถูกเชิญเข้าร่วมรัฐบาลร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียน โดยมีดรีส ฟัน อัคต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1981 พรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนเสียที่นั่งไปมาก มีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยร่วมกับพรรคแรงงาน โดยไม่ได้เชิญพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยเข้าร่วมรัฐบาล การขาดเสถียรภาพนำมาสู่การยุบจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1982 วีเคิลลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและย้ายไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระราชินีประจำจังหวัดฟรีสลันด์ เอ็ด ไนเปิลส์ รับหน้าที่หัวหน้าพรรคแทน นำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1982 ได้มา 10 ที่นั่ง จึงได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียน มีรืด ลึบเบิร์ส เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มปฏิรูปพลิกโฉมระบบรัฐสวัสดิการ และพรรคยังได้รับคะแนนเสียงมากพอในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1986 แต่เกิดข้อขัดแย้งในรัฐบาลชุดนี้ นำมาสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 1989 ที่พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้รับคะแนนเสียงไม่มากพอที่จะถูกเชิญไปร่วมรัฐบาล โยริส โฟร์ฮูเฟอ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และฟริตส์ โบลเกิสไตน์ เข้ารับตำแหน่งแทน

ค.ศ. 1994 ถึงปัจจุบัน

พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ภายใต้การนำของฟริตส์ โบลเกิสไตน์ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1994 พรรคจึงได้ร่วมรัฐบาลร่วมกับพรรคแรงงานและพรรคประชาธิปัตย์ 66 โดยมีวิม โกก เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นรัฐบาลเนเธอร์แลนด์รัฐบาลแรกที่ไม่มีพรรคคริสเตียนใด ๆ ร่วมรัฐบาลเลยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 แนวทางการเมืองของโบลเกิสไตน์ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมากทำให้พรรคได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1998 กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงสูงเป็นอันดับสอง จึงได้เข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้ง โบลเกิสไตน์ลาออกจากพรรคเพื่อไปรับตำแหน่งข้าหลวงประจำยุโรปในปี ค.ศ. 1999 และมีฮันส์ ไดก์สตัล นักการเมืองสังคมเสรีนิยมเป็นหัวหน้าพรรคแทน

การเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2002 เนเธอร์แลนด์มีแนวคิดแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มปิม ฟอร์เตาน์ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นอันดับสอง ส่วนพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้คะแนนลดลงอย่างมากแต่ยังได้เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนเป็นแกนนำ มียัน เปเตอร์ บัลเกอเนนเดอเป็นนายกรัฐมนตรี ไดก์สตัลประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและมีแคร์ริต ซาล์ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าพรรคแทน แต่ซาล์มกลับไปขัดแย้งกับรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มปิม ฟอร์เตาน์ ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงมีการเลือกตั้งอีกครั้งใน ค.ศ. 2003

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคคาดหวังว่าจะได้คะแนนนิยมเพิ่มมากเพราะนำเอาข้อเสนอเรื่องผู้อพยพของปิม ฟอร์เตาน์มาเสนอในนโยบายหาเสียง แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นใจ ซาล์มนำพรรคได้ที่นั่งเพียง 4 ที่นั่งเท่านั้น และได้เข้าร่วมรัฐบาลอย่างไม่เต็มใจนัก ซาล์มได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งและยังได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีโยซียัส ฟัน อาร์ตเซิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนซาล์มในปี ค.ศ. 2004

ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 พรรคเสียที่นั่งเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งสภาจังหวัด ฟัน อาร์ตเซิน จึงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและให้วิลลีบรอร์ด ฟัน เบก รักษาการแทน จากนั้นพรรคได้เลือก มาร์ก รึตเตอ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน อย่างไรก็ตาม พรรคได้รับคะแนนเสียงไม่มากพอในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2006 และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคได้เริ่มรณรงค์หาเสียงช้าและไม่มีประสิทธิภาพ[14] ไม่สามารถดึงความสนใจจากประชาชนจากการขับเคี่ยวระหว่างหัวหน้าพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนและหัวหน้าพรรคแรงงานได้ เกิดความไม่ลงรอยกันในพรรค โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นผู้นำของรึตเตอ โดยเฉพาะหลังจากที่รีตา แฟร์โดงก์ ตัวแทนอันดับสองจากพรรคได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่ารึตเตอที่เป็นตัวแทนอันดับหนึ่ง มีการเรียกร้องให้มีการพิจารณาหัวหน้าพรรคกันใหม่[15] เป็นเวลานานกว่าสถานการณ์ในพรรคจะดีขึ้น และแฟร์โดงก์ได้ลาออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่

ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2010 พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยภายใต้การนำของมาร์ก รึตเตอ ชนะการเลือกตั้ง ได้มาถึง 31 ที่นั่งในสภา กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 92 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา โดยร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียนจัดตั้งรัฐบาลรึตเตอ 1

เมื่อพรรคเพื่อเสรีภาพไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการประกาศตัดงบประมาณเพื่อรัดเข็มขัด ได้ลาออกจากฝ่ายรัฐบาล มาร์ก รึตเตอจึงประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 2012[16] และครั้งนี้ได้รับคะแนนท่วมท้นอีกครั้ง ได้มาถึง 41 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นมา 10 ที่นั่ง) จัดตั้งรัฐบาลรึตเตอ 2 ร่วมกับพรรคแรงงานและบริหารงานจนครบวาระ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2017 พรรคเสียที่นั่งไป 8 ที่นั่ง แต่ยังเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียน พรรคประชาธิปัตย์ 66 และสหภาพคริสเตียนในรัฐบาลรึตเตอ 3

ใกล้เคียง

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ (พ.ศ. 2561) พรรคประชาชนปฏิวัติลาว พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย พรรคประชากรไทย พรรคประชาชนกัมพูชา พรรคประชาราช พรรคประชาชาติ (พ.ศ. 2531) พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี

แหล่งที่มา

WikiPedia: พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย http://euobserver.com/9/115974 http://www.elsevier.nl/nieuws/politiek/artikel/asp... http://www.houseofrepresentatives.nl/dossiers/2012... http://www.nos.nl/nosjournaal/artikelen/2006/11/4/... http://www.vvd.nl http://www.vvd.nl/bestand/overdevvd/83 http://www.vvd.nl/standpunten http://www.whois.ws/domain_information-nl/vvd.nl/ https://books.google.com/books?id=18aSGqADApUC&pg=... https://books.google.com/books?id=GgvLEFPY8l4C&pg=...