ประวัติ ของ พรรคเศรษฐกิจไทย

พรรคเศรษฐกิจไทยจดทะเบียนก่อตั้งเป็นลำดับที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยมีนายประสงค์ วรารัตนกุล และนายเมธาวี อ่อนไสว เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก[1]

ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563 นายเชตวัน อนันตสมบูรณ์ รองหัวหน้าพรรคได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโดยทางพรรคได้รับหนังสือได้หนังสือลาออกในวันรุ่งขึ้นทำให้เหลือกรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น 17 คน[2] จากนั้นได้มีกรรมการบริหารพรรคยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งอีก 2 คนคือ นายออมสิน แม้นจักร และ นายธาวิต แสวงดี ทำให้เหลือกรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น 15 คน[3]

ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563 นายกัมพล ติยะรัตน์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคลงวันที่ 2 กันยายนทำให้พ้นจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคจึงเหลือกรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น 14 คน[4]

โดยพรรคเศรษฐกิจไทยได้ปรากฏเป็นข่าวเมื่อมีกระแสออกมาว่า นาย ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้คนมาจดทะเบียนจัดตั้งไว้ โดยทางพรรคได้จัดประชุมจัดตั้งสาขาพรรคครบทั้ง 4 ภาคแล้วและมีกำหนดจัดประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน[5] ในเวลาต่อมาคณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเนื่องจากนายประสงค์ หัวหน้าพรรคได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยทางพรรคได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลืออยู่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะแต่ยังต้องดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมบริหารพรรคชุดใหม่[6]โดย นางรัชนี ศิวะเวชช ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคจึงได้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรค

จากนั้นในวันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564 พันเอก สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้และผู้ร่วมก่อตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเตรียมย้ายมาสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยพร้อมคณะอีก 9 คนนำโดย นาย ทวี สุระบาล อดีต ส.ส. จังหวัดตรัง [7] แต่ในเวลาต่อมาพันเอกสุชาติได้ไปสมัครเป็นสมาชิก พรรคกล้า ของนาย กรณ์ จาติกวณิช

ต่อมาในวันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 พรรคเศรษฐกิจไทยได้ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา และอดีตเลขาธิการ พรรคพลังประชารัฐ พร้อม ส.ส. ในกลุ่มอีก 20 คนได้เตรียมย้ายเข้ามาสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีกระแสข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจนว่าปรากฏชื่อของ บิ๊กน้อย พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค นาย อภิชัย เตชะอุบล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และอดีตเหรัญญิก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการพรรค และ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นที่ปรึกษาพรรค จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2565 นาย ไผ่ ลิกค์ ส.ส. กำแพงเพชร เขต 1 ซึ่งโดนขับออกจาก พรรคพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับ ร้อยเอกธรรมนัส ได้โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่า กลุ่ม ส.ส. ทั้ง 21 คนจะย้ายเข้าไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยเพราะแนวทางเข้ากันได้[8]

กระทั่งวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565 นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส. สมุทรสาคร ได้ย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยได้ประชุมจัดตั้งตัวแทนสาขาพรรคเศรษฐกิจไทย เขต 3 ที่ วัดบางพลี ตำบลบางโทรัด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร[9] จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ทำให้พ้นจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ โดยแอดมินเพจ อาน้อย วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า เตรียมเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งต่อมาแอดมินได้ออกมายอมรับว่าเกิดจากรับข้อมูลคลาดเคลื่อนและตีเจตนารมณ์ผิดต่อมาจึงได้แก้ไขข้อความให้ถูกต้องและแอดมินได้กล่าวขอโทษต่อลูกเพจและประชาชน แต่อย่างไรก็ดีภายในเวลาไม่กี่นาทีแรกนักข่าวได้แคปโพสท์ของแอดมินไปทำข่าวและตีความพร้อมตั้งคำถามไปหลายทิศทางจึงทำให้เกิดกระแสข่าวออกมาค่อนข้างสับสนเนื่องจาก[10] หลังจากนั้นเพียงวันเดียวพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็ยังคงลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์กักกัน (OQ) แรงงานต่างด้าวตาม MOU โรงแรมอินโดจีน แกรนด์ เรสซิเด้นซ์ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อหารือ วางแนวทาง เรื่อง การขาดแคลนแรงงาน,ปัญหาด้านแรงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (ซึ่งอาจเกี่ยวโยงถึงการค้ามนุษย์), ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 จากแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ไทย พร้อมกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามปกติ[11]

พรรคเศรษฐกิจไทยได้แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฏรว่า ได้ทำการรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 18 คน เข้าสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย [12] จากนั้นในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส.ส. ในสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยก็ได้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก

แหล่งที่มา

WikiPedia: พรรคเศรษฐกิจไทย http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/D/... https://www.bangkokbiznews.com/politics/985339 https://www.facebook.com/arnoivitch/ https://www.komchadluek.net/news/scoop/474360 https://www.thaipost.net/politics-news/70775/ https://www.dailynews.co.th/news/325749/