บทบาททางการเมือง ของ พรรคเส้นด้าย

พรรคพลังพลเมืองไทย

พรรคพลังพลเมืองไทยเกิดจากการรวมตัวกันของอดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส. จากทั่วทุกภาคโดยมี นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าที่หัวหน้าพรรคนอกจากนี้ยังมีอดีตรัฐมนตรีหลายคนเข้าร่วมก่อตั้งอาทิ นายเอกพร รักความสุข และนาย ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ เป็นต้นโดยมีการนัดประชุมหารือเรื่องการจัดตั้งพรรคและแถลงข่าวถึงเรื่องนี้ที่บ้านพักของนายสัมพันธ์ที่ ถนนราชวิถี เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 [2]

โดยในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561 ทางพรรคพลังพลเมืองไทยได้รับหนังสือจดแจ้งจัดตั้งพรรคจาก พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต.ในฐานะรักษาการนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อให้ทางพรรคเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งพรรคต่อไป โดยทางพรรคกำหนดวันเวลาและสถานที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของพรรคเพื่อร่างข้อบังคับพรรค นโยบายของพรรคและประกาศอุดมการณ์การเมืองของพรรครวมถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561 เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์[3] ผลปรากฏว่านาย สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก นาย เอกพร รักความสุข เป็นเลขาธิการพรรคคนแรกพร้อมกับรองหัวหน้าพรรคอีก 5 คนคือ นาย สุชาติ บรรดาศักดิ์, นาย กริช กงเพชร, นาย สมชาติ เจริญวัชรวิทย์, นาย โสภณ เพชรสว่าง และนายแพทย์ วิชัย ชัยจิตวณิชกุล โดยมีนางสาว ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ เป็นรองเลขาธิการพรรคและนาย ธนชาติ แสงประดับธรรมโชติ เป็นผู้อำนวยการพรรคพร้อมกับคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 35 คน[4] ซึ่งนายสัมพันธ์และผู้ร่วมก่อตั้งได้เข้ายื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังพลเมืองไทยอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 [5] และในการประชุม กกต. เมื่อวันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมได้มีมติรับรองการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังพลเมืองไทยพร้อมกับ พรรคประชาภิวัฒน์ ซึ่ง กกต. ได้รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังพลเมืองไทยเป็นลำดับที่ ๔/๒๕๖๑ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561 [6]

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางพรรคได้เตรียมจดทะเบียนจัดตั้งพรรคในชื่อพรรคพลังพลเมืองแต่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งมาแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หรือหนึ่งอาทิตย์ก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 มีนายปรีดา ลิ้มนนทกุลเป็นหัวหน้าพรรคทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อพลังพลเมืองไทย[7]

พรรคพลเมืองไทย

ในเวลาต่อมาพรรคพลังพลเมืองไทย ได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคพลังพลเมืองไทย ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 โดยที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคพลเมืองไทย [8] โดยในการเลือกตั้งทั่วไปปี2562 ทางพรรคพลเมืองไทย ได้มีส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 รายคือ นางสาวศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ โดยมีนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์บิดา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่อมานายสัมพันธ์ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค และได้พาศิลัมพา บุตรสาวซึ่งเป็น ส.ส. คนเดียวของพรรคย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังจากคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติขับออกจากพรรคเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566[9]

พรรคเส้นด้าย

หลังจากที่นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค ทางพรรคพลเมืองไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566[10][11] ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกคริส โปตระนันทน์ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่พร้อมกับเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น [9] พรรคเส้นด้าย โดยทางพรรคเส้นด้ายได้ปราศรัยเปิดตัวพรรคเป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566[12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พรรคเส้นด้าย http://www.naewna.com/politic/331626 http://www.posttoday.com/politic/news/538099 http://www.posttoday.com/politic/news/542680 http://www.matichon.co.th/politics/news_966353 http://www.thairath.co.th/content/1268331 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/D/... https://www.bangkokbiznews.com/politics/1051534 https://www.bangkokbiznews.com/politics/1054415 https://www.facebook.com/zendaiparty.org https://zendaiparty.org