ประวัติ ของ พระครูธรรมกิจจาภิบาล_(กลม_สุวณฺโณ)

พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) หรือหลวงพ่อกลม ท่านเป็นคนบ้านคุ้งตะเภา ตำบลท่าเสา แขวงบางโพ เมืองพิชัย (บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน) เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2421 มีชื่อเดิมว่า กลม นิยมเดช บิดาชื่อนายชื่น มารดาชื่อนางจันทร์ ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบบวชเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ณ พัทธสีมาวัดใหญ่ท่าเสา โดยมีพระอธิการอินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์สี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "สุวณฺโณ"

ท่านได้รับแต่งตั้งจากพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี (เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น) ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2463 และท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆาธิการระดับต่าง ๆ ตามลำดับ เช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด (เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2466) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ (เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2481) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงกิ่งฟากท่าในปี พ.ศ. 2482 (โดยเป็นอยู่ 6 เดือนจึงได้ย้ายไปเป็นเจ้าคณะแขวงท่าปลาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน)

และด้วยการที่ท่านดำรงตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ช่วยงานพระศาสนามาเป็นลำดับ มีผลงานปรากฏมากมาย ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นที่ "พระครูธรรมกิจจาภิบาล" เมื่อปี พ.ศ. 2484[3]

ผู้ที่ยังทันเห็นท่านเล่าว่าในขณะที่ท่านดำรงชีวิตอยู่ หากดูจากภายนอกจะดูเป็นคนดุ พูดเสียงดังฟังชัด แต่จิตใจท่านเมตตาเสมอ ดังสำนวนที่ว่า ปากร้ายใจดี ใครจะบวชกับท่านต้องท่องขานนากให้ได้ ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่บวชให้ ท่านมักเป็นที่กล่าวถึงในคุณาภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องรูปหล่อที่ท่านได้จัดสร้างเช่น เหรียญกลมหลังท้องกระทะ รุ่นแรก (พ.ศ. 2483) และพระพุทธชินราช (พ.ศ. 2481) ซึ่งรวมไปถึงวัตถุมงคลที่ท่านได้ปรกจิตภาวนาด้วย เช่น เหรียญวัตถุมงคลหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน รุ่นแรก ไปจนถึงพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ซึ่งท่านได้ตั้งใจสร้างฝากถวายวัดบ้านเกิดของท่านเป็นครั้งสุดท้าย คือ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา วัดคุ้งตะเภา (สร้างปี พ.ศ. 2491) อันเป็นพระพุทธรูปหล่อ ซึ่งมีพระพุทธลักษณะงดงามมาก และเป็นที่เลื่องลือในหมู่ผู้ศรัทธาว่า อภินิหารของพระพุทธรูปองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์เปรียบประดุจสรรพวิชาอาคมของหลวงพ่อกลมได้ถ่ายทอดมาลงอยู่ในองค์พระจนสิ้น

หลวงพ่อกลมมรณภาพเมื่อเมื่อเวลา 20.27 นาฬิกา. ของวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2492 หลังจากสร้างหลวงพ่อสุวรรณเภตราได้ปีเดียว

ปัจจุบัน แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานาน แต่ก็ยังมีผู้เคารพศรัทธาชาวอุตรดิตถ์กล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อกลมอยู่เสมอมา ทำให้มีผู้นับถือแสวงหาเหรียญรูปหล่อบูชาของท่านเพื่อรักษาไว้เป็นสิริมงคลตลอดมาจนปัจจุบัน[4]

ใกล้เคียง

พระครูสมุทรธรรมสุนทร (สุด สิริธโร) พระครูภาวนาภิรัต (ทิม อิสริโก) พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต) พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินทปญโญ) พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) พระครูภาวนากิจจาภิรม (สมชาย จีรปุญฺโญ)