ประวัติ ของ พระครูสวางคมุนี_(จัน)

พระครูสวางคมุนี (จัน) เป็นพระเถระที่ได้รับความเคารพนับถือในเขตเมืองสวางคบุรี หรือเมืองฝาง ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการ (เทียบได้กับเจ้าคณะแขวงในปัจจุบัน) ก่อนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางในปี พ.ศ. 2431 หลังพระอาจารย์วอน วัดต้นมะขาม ซึ่งพระอาจารย์วอนได้ดำรงตำแหน่งพระครูสวางคมุนีและย้ายไปจำพรรษาวัดวังตะม่อ ในปี พ.ศ. 2427[1] ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางในปี พ.ศ. 2529[2] สันนิษฐานว่าพระอาจารย์วอนได้มรณภาพไปก่อนที่เจ้าอธิการจัน วัดคุ้งตะเภา จะได้รับพระราชทานตั้งให้เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางแทนตำแหน่งที่ว่างลง พร้อมกับได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นที่พระครูสวางคมุนี ในปี พ.ศ. 2431

ตราประทับงาประจำตำแหน่งสมณศักดิ์เจ้าคณะใหญ่เมืองฝางรูปสุดท้าย ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

โดยเจ้าอธิการจัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับสถาปนาตั้งตำแหน่งพระสงฆ์เจ้าคณะเมือง พร้อมกับเจ้าคณะเมืองต่าง ๆ รวม 31 รูป ในวันจันทรคติตรงกับ แรม 15 ค่ำ เดือนแปด (บุรพาสาธ) ปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 สุริยคติตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 โดยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จออกพร้อมกับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญในการทรงสถาปนาตั้งตำแหน่งพระสงฆ์สำคัญเพื่อปกครองสังฆมณฑล โดยได้พระราชทานผ้าไตรและสัญญาบัตร ให้เจ้าอธิการจัน วัดคุ้งตะเภา เป็นพระครูสวางคมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง พร้อมทั้งพระราชทานตาลปัตรพุดตาลทองแผ่ลวด พัดรองโหมด ย่ามสักลาด บาตรถุงสักลาด กาน้ำถ้วยกระโถนถ้วยร่มรองเท้า สำหรับเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์อีกด้วย[3]

พระครูสวางคมุนี (จัน) เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภานั้น นับเป็นพระเถระรูปสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานราชทินนามโบราณสำหรับพระสังฆราชาเมืองฝาง ที่ปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะหลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองคณะสงฆ์ในเมืองฝางใหม่ โดยแยกตั้งเจ้าคณะเมืองอุตรดิฐขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเจ้าอธิการแสง วัดท่าทราย ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอุทิศติยวงษ์คีรีเขตร (แสง) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองอุตรดิฐ เมืองทุ่งยั้ง เมืองลำพูน (ตำบลแม่พูล อ.ลับแล ในปัจจุบัน) เมืองลับแล ในปี พ.ศ. 2432[4] ซึ่งเขตปกครองของเจ้าคณะเมืองอุตรดิตถ์ฯ ใหม่ อยู่ในฝั่งขวาแม่น้ำน่านทั้งหมด

เมื่อพระครูสวางคมุนี (จัน) วัดคุ้งตะเภา มรณภาพลง และมีการตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ในปี พ.ศ. 2445 รวมถึงเหตุการณ์ยกฐานะเมืองบางโพเป็นเมืองอุตรดิตถ์ ในต้นรัชกาลที่ 6 ทำให้พื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเขตเมืองฝางได้ถูกรวมเข้ากับเมืองอุตรดิตถ์โดยสมบูรณ์ เพราะไม่ปรากฏการใช้ชื่อเมืองฝางในการตั้งหรือเรียกชื่อเมือง รวมถึงไม่ปรากฏการพระราชทานสมณศักดิ์ตั้งพระสงฆ์รูปใดให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางอีก พระครูสวางคมุนี (จัน) วัดคุ้งตะเภา จึงเป็นพระเถระผู้ได้เคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง ซึ่งเคยเป็นนามตำแหน่งสังฆราชาเจ้าคณะเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรูปสุดท้าย[5] ปัจจุบันยังหลงเหลือฐานเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านในวัดคุ้งตะเภา

ใกล้เคียง

พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) พระครูสมุทรธรรมสุนทร (สุด สิริธโร) พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) พระครูภาวนาภิรัต (ทิม อิสริโก) พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินทปญโญ) พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต) พระครูภาวนากิจจาภิรม (สมชาย จีรปุญฺโญ) พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท)