พระตำหนัก ของ พระตำหนักในพระราชวังดุสิต

พระตำหนักสวนหงส์

พระตำหนักสวนสี่ฤดู

พระตำหนักสวนสี่ฤดู เป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปกรรมไทย และ ยุโรป ปัจจุบัน ใช้จัดแสดงสิ่งของและศิลปวัตถุที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 (เม.ย.49 ปิดปรับปรุง)

พระตำหนักสวนหงส์

ดูบทความหลักที่: พระตำหนักสวนหงส์

พระตำหนักสวนหงส์ เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ปัจจุบันใช้จัดแสดงภาพงานพระราชพิธีโบราณต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชพิธีเสด็จสถลมารค และชลมารค พระราชพิธีตรียัมปวาย

พระตำหนักสวนนกไม้

พระตำหนักสวนนกไม้ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว

พระตำหนักสวนบัว

พระตำหนักสวนบัว เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งทรงกำกับการดูแลพระเครื่องต้น ปัจจุบันใช้จัดแสดงศิลปวัตถุซึ่งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ. 2542

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดสร้างพระตำหนักขึ้น โดยมีพระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการก่อสร้าง เพื่อทรงใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมทั้งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามทุ่งส้มป่อยว่า สวนจิตรลดา พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน"[1] บริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กโดยรอบ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อประตูตามสวนจิตรลดาของพระอินทร์และท้าวโลกบาล คือ ด้านทิศตะวันออก ชื่อประตู “พระอินทร์อยู่ชม” ด้านทิศใต้ ชื่อประตู “พระยมอยู่คุ้น” ด้านทิศตะวันตก ชื่อประตู “พระวรุณอยู่เจน” และด้านทิศเหนือ ชื่อประตู “พระกุเวนอยู่เฝ้า” ในปัจจุบันเป็นทางเข้าออกได้เพียง ๓ ทิศ เว้นทิศตะวันออก มีสะพาน ๒ สะพาน มีประตูน้ำ ๒ ประตู และมีซุ้มทหารยาม ๓๐ ซุ้ม ความสำคัญของประตู “พระวรุณอยู่เจน” เป็นประตูสำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พระตำหนักจิตรลดารโหฐานสร้างเป็นตึก 2 ชั้นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นครั้งคราว เมื่อมีพระราชพิธีต่าง ๆ ก็ทรงกระทำการที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเช่นเดียวกับพระราชวัง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่เป็นที่ประทับที่วังพญาไท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกสวนจิตรลดาเป็นเขตพระราชฐานในพระราชวังดุสิต

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาอเนกประสงค์

ภายในพระตำหนัก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม รวมทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์

ใกล้เคียง