ประวัติ ของ พระทองอยู่

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทานกัณฑ์ ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง ด้วยเหตุที่ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าผู้แต่งเป็นใคร ทราบเพียงแต่ว่าเป็นภิกษุที่อยู่วัดถนน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสีกุก อันเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดอ่างทองจึงใช้ชื่อผู้แต่งกัณฑ์ทานกัณฑ์ว่า สำนักวัดถนน[1]

เรื่องผู้แต่งกัณฑ์ทานกัณฑ์นี้ จากสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกบ้านใกล้วัดถนนพอจะทราบเค้าประวัติของท่านผู้แต่งว่า ชื่อ ทองอยู่ เกิดที่บ้านไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2300 ในสมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุประมาณ 8-9 ปี ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุประมาณ 10-11 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรประจวบกับกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 ประชาชนอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ตามชนบทและในกรุงศรีอยุธยาเกิดขัดสนเสบียงอาหาร สามเณรทองอยู่จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านเกิด ที่ตำบลไผ่จำศีล การเดินทางในครั้งนั้นต้องเดินทางผ่านตำบลโผงเผง ที่บ้านนี้มีวัดอยู่วัดหนึ่ง เรียกว่า “วัดถนน” สามเณรทองอยู่ได้พักที่วัดนี้[2] ในขณะนั้นวัดถนนเกือบจะเป็นวัดร้าง มีสามเณรรูปหนึ่งคอยดูแลรักษา เณรรูปนี้ได้ชวนสามเณรทองอยู่มาอยู่ด้วยกัน แต่สามเณรทองอยู่ผัดว่าขออุปสมบทเป็นพระภิกษุก่อน ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2321 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านจึงได้อุปสมบทและมาอยู่วัดถนน และได้แต่งมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทานกัณฑ์

พระทองอยู่นับว่าเป็นสถาปนิกชั้นเยี่ยมท่านหนึ่ง ท่านจึงได้สร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นเจดีย์ที่งดงามปรากฏอยู่หน้าพระวิหารวัดถนน ถึงกับมีผู้มาวาดรูปไปเป็นแบบก่อสร้าง ในด้านวรรณกรรม นอกจากท่านได้แต่งร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทานกัณฑ์แล้ว ยังแต่งบททำขวัญนาคไว้อย่างไพเราะอีกด้วย[3]