พระนมปริก
พระนมปริก

พระนมปริก

พระนมปริก (พ.ศ. 2373 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2454) เป็นพระนมเอก ผู้ถวายพระนมและการอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระราชชนนีทุกพระองค์พระนมปริกเกิดที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ของตระกูลกัลยาณมิตร ใกล้วัดอรุณราชวรารามกับกุฏีเจ้าเซน เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล โทศก จุลศักราช 1192 ตรงกับ พ.ศ. 2373 เป็นธิดาคนเล็กในจำนวน 18 คนของ พระยาอิศรานุภาพ (ขุนเณรน้อย) เกิดแต่คุณขำ ภรรยาคนที่ 10 ได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่อายุ 2 ปี ไปอาศัยอยู่กับ เจ้าจอมพึ่ง เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตเมื่ออายุได้ 20 ปี พระนมปริกได้แต่งงานกับ นายเสถียรรักษา (เที่ยง) ปลัดวังซ้าย คหบดีเชื้อสายรามัญ ให้กำเนิดธิดาคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2396 ใกล้เคียงกับเวลาที่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี่ มีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาอิศรานุภาพผู้เป็นบิดา ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ได้ถวายตัวพระนมปริกให้เป็นพระนมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมาเมื่อสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ ในปี พ.ศ. 2398 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ในปี พ.ศ. 2399 และ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในปี พ.ศ. 2402 เป็นเวลาใกล้เคียงกับที่พระนมปริกให้กำเนิดบุตรและธิดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกเป็นผู้ถวายพระนม และการอภิบาลแก่ทุกพระองค์พระนมปริกมีบุตรธิดากับนายเสถียรรักษา (เที่ยง) ทั้งสิ้น 9 คน คนโตชื่อ เขียน เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังไม่ทรงครองราชย์ ต่อมาได้กราบบังคมทูลลาไปบวชเป็นชีจนถึงแก่กรรม ธิดาคนที่สามชื่อ วาด ได้ถวายตัวรับใช้ทูลกระหม่อมแก้ว (หรือ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร) ต่อมาได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอม เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ให้ประสูติพระราชโอรส คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินพระนมปริกถึงแก่อนิจกรรมที่วังพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2454[1] อายุ 81 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศราชินิกุล เสมอพระศพหม่อมเจ้า และพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดที่วัดเทพศิรินทราวาส