พระประวัติ ของ พระนางเธอลักษมีลาวัณ

พระประวัติตอนต้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณประสูติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ณ วังวรวรรณ ตำบลแพร่งนรา จังหวัดพระนคร[1] พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (ราชสกุลเดิม มนตรีกุล) มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า ท่านหญิงติ๋ว ทั้งนี้พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูและอบรมจากเจ้าจอมมารดาเขียน ผู้เป็นย่ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมาได้เสด็จไปประทับอยู่กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี[2]

พระองค์ได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีสมัยใหม่ ทรงมีความคิดอ่านอิสระเสรี ซึ่งพระบิดาเป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และความคิดที่กว้างไกลทันสมัย แม้กระทั่งการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดา ก็ทรงให้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เข้มงวดดังการประพฤติปฏิบัติอย่างกุลสตรีโบราณ[3] ทำให้เหล่าพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์มีความคิดเห็นกว้างขวาง และกล้าที่จะแสดงออกในวัตรปฏิบัติผิดแผกแตกต่างไปสตรีส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่อยู่ในกรอบของม่านประเพณีโบราณ[4]

หม่อมเจ้าวรรณพิมลทรงเปิดพระองค์อยู่ในสังคมชั้นสูงที่มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคมและความบันเทิง ทำให้หลายคนต่างมองเห็นภาพความสนุกสดใสของบรรดาพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ไม่ยากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงเล่าไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า "... ไม่มีผู้หญิงคนไทยครอบครัวใดที่จะช่างคุยสนุกสนานเท่าองค์หญิงตระกูลวรวรรณ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักพบมา..."[4]

การหมั้นหมาย

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล ทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาว[5] ในงานนี้บรรดาท่านหญิงทั้งหลายของราชสกุลวรวรรณจึงเสด็จมาในงานนี้ด้วยหลายองค์ซึ่งรวมไปถึงพระภคินีคือ หม่อมเจ้าวรรณวิมล[5] ซึ่งต่อมาได้ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก

ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 หลังจากที่ทรงพบปะกับเหล่าท่านหญิงจากตระกูลวรวรรณไม่กี่วัน[6] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้พระธิดาทั้งหลายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังนี้

พระนางเธอลักษมีลาวัณ

ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในฐานะพระคู่หมั้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน[7] แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าก็ทรงคบหากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของพระวรกัญญาปทานอย่างเปิดเผย ทั้ง ๆ ที่อยู่ระหว่างที่ทรงหมั้นอยู่[8] และพบว่าทรงติดต่อกันทางจดหมายเพื่อระบายความทุกข์ส่วนพระองค์[9] และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณอยู่เสมอ เช่น[9]

รักสมรย้อนคนึงแสนซึ้งจิตที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่
แม้มิมัวหลงเลยเชยอื่นไปก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน

และ

นึกถึงเมื่อให้กล่องน้องยังห่างยังแรมร้างมิได้รักสมัครสม
ชอบกันฐานพี่น้องต้องอารมณ์ตามนิยมเยี่ยงแยบแบบวงศ์วาร
โอ้งวยงงหลงงมชมที่ผิดจึงมิได้ใกล้ชิดยอดสงสาร
จนต้องแสนซึ้งค้อนร้อนรำคาญไร้สราญเหลือล้นจนวิญญา

และหลังจากการถอดถอนหมั้นเพียงไม่กี่เดือน[8] ก็ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464[10] ขณะพระชันษา 22 ปี และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส[11] กระนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ประทานกลอนเตือนพระสติ ความว่า[12]

แม้ลูกรักพ่อขอให้นึก
แต่รู้สึกเสงี่ยมองค์อย่าหลงเหิม
ถึงแม่ติ๋วลอยละลิ่วก็ติ๋วเดิม
เดชเฉลิมบุญเราเพราะเจ้าเอย

ทรงแยกกันอยู่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเธอลักษมีลาวัณ

หลังจากการเฉลิมพระยศได้เพียงหนึ่งเดือนสิบเก้าวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอภิเษกสมรสกับ พระสุจริตสุดา ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464[8] และทรงตัดสินพระราชหฤทัย "แยกกันอยู่" กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณซึ่งยังมิได้อภิเษกสมรสกัน ต่อมาพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465[13] เสมือนรางวัลปลอบพระทัย[8]

การนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดา ได้ประทานบทกลอนปลอบพระทัยพระนางเธอลักษมีลาวัณ ความว่า[12]

ลาภยศเหมือนบทละครเล่นสัตย์ธรรม์นั้นเป็นแก่นสาร
เมื่อเบียฬเพียรผดุงปรุงญาณเบิกบานกรุณาอารีย์
พ่อชราไม่ช้าจะลาสูญสุดนุกูลสมรักลักษมี
ฉลาดคนึงพึ่งองค์จงดีสมศักดิ์จักรีเกษมพร

หลังจากนั้นพระนางเธอลักษมีลาวัณก็ทรงพอพระทัยที่จะแยกพระตำหนักไปประทับอยู่ห่างจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ทรงประทับอยู่อย่างสันโดษ และเพื่อเลี่ยงความเงียบเหงาพระนางจึงทุ่มเทไปกับงานพระนิพนธ์ และการเขียนบทละครร้องและการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา ทั้งนี้หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับส่วนแบ่งจากพระราชมรดก อาทิ เพชร, ทอง, สังวาล, กระโถนทอง และพานทอง[14]

สิ้นพระชนม์

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวการสิ้นพระชนม์

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไปเห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชรา และอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคาทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ

ซึ่งคนร้ายได้ลอบทำร้ายพระนางเธอด้วยย่องเข้ามาทางข้างหลังขณะทรงปลูกต้นมะละกอเล็กๆ ที่ข้างพระตำหนัก แล้วใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียร 3 ครั้ง จากนั้นใช้สันขวานทุบพระศออีก 1 ครั้งจนสิ้นพระชนม์ทันที โดยเมื่อตรวจสอบพระวรกายบริเวณพระอุระ (หน้าอก) พบบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม 4 แผล ที่พระศอ (คอ) อีกแผลหนึ่ง ที่พระเศียร (ศีรษะ) ด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล[15] ทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนัก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 800 เมตร เพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่ง และเงินพระราชสมบัติทั้งหมดไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ตู้เซฟที่เก็บฉลองพระองค์และเครื่องประดับของราชวงศ์จักรีมูลค่านับล้านบาทยังอยู่ในสภาพปกติ[15]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 15.30 น. ของวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 ว่าเธอไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย[15] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ พบว่าเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ในห้องพระบรรทมถูกรื้อกระจาย และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถสิ้นพระชนม์มาไม่ต่ำกว่าสามวัน[15]

ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองได้รับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งในสามคือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปด้วยพระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

ใกล้เคียง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระนางจามเทวี พระนางสิริมหามายา พระนางจิรประภาเทวี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระนามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม พระนางวิสุทธิเทวี พระนาย สุวรรณรัฐ พระนางศุภยาลัต

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระนางเธอลักษมีลาวัณ http://www.clipmass.com/story/76667 http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.as... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2463/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2463/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/D/...