สยามมกุฎราชกุมาร ของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต[31] มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูรสิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิสยามมกุฎราชกุมาร

นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย[32][33]

ผนวช

ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารมีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา[34] โดยได้ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชและทรงเยี่ยมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทรงสนทนาศึกษาธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า[35]พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.37 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม[36] โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปทำทัฬหีกรรม ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน เมื่อเวลา 16.59 น. โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[37] เสร็จแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[38] พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล[39] “ตลอดระยะเวลาแห่งการผนวชนั้นทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาประการ เช่น ทรงร่วมทำวัตรเช้าเย็น ทำสังฆกรรม สดับพระธรรม เทศนา และทรงศึกษาพระธรรมวินัย ร่วมกับพระภิกษุอื่น ๆ เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงรับภัตตาหารบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ และประชาชน ณ สถานที่ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะสมเด็จ พระสังฆราช และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ณ พระอาราม ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรง สักการะพระพุทธรูปสำคัญ เจดียสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในส่วนภูมิภาค และเสด็จออกให้คณะสงฆ์และคณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายสักการะ เป็นต้น”[40] ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช ณ พระตำหนักปั้นหย่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 10.15 น.[41]

การทหาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงปฏิบัติการฝึกเครื่องบินรบแบบเอฟ-5

ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยในกิจการกองทัพ และขณะประทับอยู่ในประเทศไทยได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมที่ตั้งทหารหลายแห่ง[42] หลังทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลีย รวมถึงทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรอื่น ๆ แล้ว ทรงเคยเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทั้งยังเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมให้กำลังใจแก่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ อส. บริเวณพื้นที่อันตราย[43]

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระยศทางการทหาร คือ ร้อยตรี เรือตรี พรรคนาวิน และ เรืออากาศตรี แห่งกองทัพทั้งสาม[44] จากนั้นได้ทรงเข้ารับการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรการกระโดดร่มภาคพื้นดิน ณ ค่ายนเรศวร ได้รับพระราชทานปีกนักโดดร่มชั้น 1 กิตติมศักดิ์ในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2514 และได้ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็น ร้อยโท เรือโท และเรืออากาศโท [45] ทรงดำรงตำแหน่งทางทหารตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับกองพัน ,ผู้บังคับกองพัน, ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และองค์ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างและพระราชทานคำสั่งสอนแก่ข้าราชบริพารทุกหมู่เหล่าด้วยพระองค์เอง และมีการเทิดทูนยกย่องพระองค์เป็น “บรมครูทางการทหาร”[46]

พระนิพนธ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี พระอัจฉริยะทางการประพันธ์มาตั้งแต่ ยังทรงพระเยาว์ โดยได้ทรงพระนิพนธ์ เรื่อง “น้ำท่วม” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การรับผิดชอบต่อหน้าที่ การตระหนัก ถึงประโยชน์ส่วนใหญ่มากกว่าการเล่น สนุก ตั้งแต่มีพระชนม์เพียง 12 พรรษา [47] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้เวลาส่วนพระองค์ที่เหลือจากงานราชการและการศึกษาซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก ด้วยการทรงงานอดิเรก เช่น ทรงแต่งบทกลอนและทรงบริหารพระวรกาย เช่น ทรงวิ่ง ทรงฟุตบอล โดยเฉพาะงานพระนิพนธ์บทกลอนนั้น ทรงมีความสามารถเป็นพิเศษ ดังบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งได้ทรงไว้ในหลายโอกาส เช่น ระหว่างการฝึกทหาร เช่น บทพระนิพนธ์ถวายบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยดันทรูน ออสเตรเลีย ความตอนหนึ่งว่า “เมื่อสิบสองมกรา หนึ่งห้า ลูกคลาคลาด ต้องนิราศ จากไป ไกลนักหนา จำใจจาก แม่พ่อ คลอน้ำตา นึกขึ้นมา คราใด ใจอาวรณ์ ลูกจากไป ครานี้ มีจิตมั่น จะขยัน และทำตาม คำพร่ำสอน ถึงลำบาก อย่างไร ไม่อุทธรณ์ สู้ทุกตอน ตามประสงค์ จำนงใจ”[48] และบทพระนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2515 “แม่รักชาย ห่วงชาย ชายก็รู้ ชายจะสู้ สุดชีวตอย่าสงสัย จะทำตัวให้สมแม่วางใจ จะรักไทย กู้ศักดิ์ศรีจักรีวงศ์ จะรักหญิงที่เขาเข้าใจแม่ จะแน่วแน่พุทธศาสน์ถือพระสงฆ์ การสวดมนต์ไหว้พระจะดำรง จะมั่นคงรักชาวไทยไม่เสื่อมคลาย [49]

กิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารทรงปั่นนำขบวน Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่

ในปี พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารมีพระราชปณิธานที่จัดกิจกรรมจักรยานถวายพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้ทรงจักรยานพระที่นั่งนำประชาชนทั่วประเทศปั่นจักรยานในกิจกรรม Bike for Mom - ปั่นเพื่อแม่ จัดกิจกรรมวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 และกิจกรรม Bike for Dad - ปั่นเพื่อพ่อ จัดกิจกรรมวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ในกิจกรรมประชาชนได้ร่วมใจกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดเส้นทางมีพสกนิกรเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น[50]

ใกล้เคียง

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว http://www.bbc.com/news/world-asia-37654314 http://news.ch3thailand.com/local/94494 http://www.posttoday.com/social/royal/468256 http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code576.pdf http://news.tlcthai.com/royal/6634.html http://www.watbowon.com/Monk/oldmonks/index14.htm http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/... http://www.mcot.net/site/content?id=521f19bd150ba0... http://www.kingdom-siam.org http://www.kingdom-siam.org/family-b-a-a.html