ประวัติ ของ พระพรหมบัณฑิต_(ประยูร_ธมฺมจิตฺโต)

พระพรหมบัณฑิต เดิมชื่อ ประยูร มีฤกษ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 เดือนกันยายน พ.ศ. 2498 จังหวัดสุพรรณบุรี และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 11 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ท่านสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดในด้านบาลีศึกษาของประเทศไทย คือสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณรและได้รับการอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะนาคหลวง

โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

สองปีต่อมา ท่านได้รับปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาปรัชญา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลังจากนั้น ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย ได้รับประกาศนียบัตรภาษาฝรั่งเศส ปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาปรัชญา วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของท่านซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษและได้รับการตีพิมพ์ในชื่อเรื่องว่า “อนัตตาในปรัชญาอัตถิภาวนิยมของซาตร์และในพุทธศาสนาดั้งเดิม” มีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

หลังจากที่จบปริญญาเอก ท่านได้เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยระยะหนึ่ง ในปี 2529 ท่านได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ไปเป็นพระธรรมทูต ประจำวัดธัมมาราม ชิคาโก สหรัฐอเมริกา และกลับมารับตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ และเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยท่านแรก และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจากสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2540 และในปีถัดมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะภาค 2 รับผิดชอบเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดอ่างทอง

นอกจากงานปกครองคณะสงฆ์แล้ว ท่านยังเป็นพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการของประเทศไทยรูปหนึ่ง ได้นิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและปรัชญากว่า 60 เล่ม งานพิมพ์ต่าง ๆ ของท่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งหนังสืออื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ปรัชญากรีก พุทธวิธีสร้างสันติภาพ จริยธรรมชาวพุทธ โลกทัศน์ของชาวพุทธ และ วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลสหประชาชาติ

ท่านได้รับเชิญให้กล่าวบรรยายธรรมทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ และได้รับเชิญให้บรรยายธรรมเป็นประจำทุกปีทั่วประเทศและทั่วโลกตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วมา ซึ่งรวมทั้งการบรรยายธรรมเป็นชุดต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2537 เป็นผู้แทนของประเทศไทยเสนอบทความทางวิชาการ ในที่ประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่กรุงเทพมหานคร และในที่ประชุมสัมมนาผู้นำทางศาสนาที่จัดเนื่องในการประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 ท่านได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “พุทธทัศนะสลายความขัดแย้ง” ในการประชุมสุดยอดผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณเพื่อสันติภาพโลก ณ สหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สามเดือนต่อมาท่านได้บรรยายพิเศษเรื่อง “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพของโลก” ในการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งโลกครั้งที่สอง ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาท่านได้รับอาราธนาไปบรรยายธรรม และแสดงปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษจำนวนหลายครั้งในที่ประชุมนานาชาติในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ

ด้วยการเป็นที่ยอมรับในงานบทความด้านวิชาการและการสละอุทิศตน เพื่อสังคมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของท่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทยจึงพระราชทานตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาปรัชญาแก่ท่าน ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2546

ท่านได้เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานในการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่สอง จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นประธานคณะกรรมการจัดประชุมสภาผู้นำศาสนาแห่งโลก ณ พุทธมณฑล และศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 12 -14 มิถุนายน พ.ศ. 2545

สองปีต่อมา ท่านได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานการประชุมสภาผู้นำศาสนาแห่งโลก พร้อมกับการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวนเพื่อสันติภาพแห่งโลก ณ พุทธมณฑล ระหว่างวันที่ 24-29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 และเป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน การประชุมการทำงานร่วมกันชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่หนึ่ง หัวข้อ “เอกภาพและความร่วมมือของชาวพุทธ” ณ พุทธมณฑล และศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 16-20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และจากนั้นเป็นต้นมาก็เป็นแกนหลัก และประธานการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกที่ประเทศไทย และเป็นประธานคณะกรรมการการจัดงานประชุมนานาชาติ วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม อย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2548และ พ.ศ. 2549 ตามลำดับ

หลังจากการจัดประชุมวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548 ประมุขสงฆ์และผู้นำชาวพุทธทั่วโลกได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมรับรองให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก

ท่านเป็นประธานคณะกรรมการการจัดงานการประชุมนานาชาติ ครั้งที่สี่ วันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 -29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ภายหลังการประชุมท่านได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ

ใกล้เคียง

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) พระพรหม พระพรหมวชิรโมลี (ทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ) พระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต) พระพรหมกวี (พงศ์สันต์ ธมฺมเสฏฺโฐ)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระพรหมบัณฑิต_(ประยูร_ธมฺมจิตฺโต) http://www.watprayoon.com/mainschool.php?page=page... http://www.komchadluek.net/news/detail/224619 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0013840... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2532/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/B/...