ประวัติ ของ พระพรหมมุนี_(เหมือน_สุมิตฺโต)

ชาติกำเนิด

พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่า เหมือน เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2366 (นับตามแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2367) ได้ฝากตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) ตั้งแต่ท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี อยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร (บิดาของพระพรหมมุนีเป็นพี่ชายของมารดาสมเด็จพระวันรัตน์) ต่อมาสมเด็จพระวันรัตน์ได้นำท่านไปฝากเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงผนวชประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[1]

อุปสมบท

พ.ศ. 2386 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หน้าวัดราชาธิวาส โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรโมลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทแล้วกลับไปศึกษาที่สำนักของพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) ตามเดิม[1]

การศึกษา

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระพรหมมุนีได้เข้าสอบบาลีครั้งแรกที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร แต่สอบไม่ผ่าน ภายหลังได้เข้าสอบอีกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค ถึงรัชกาลที่ 4 ได้เข้าสอบอีกครั้งที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 4 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค[1]

สมณศักดิ์

การอุปสมบทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งทางซ้ายสุดของภาพ รูปที่ 3 จากทางขวาคือพระอริยมุนี (เหมือน สุมิตฺโต)
  • ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นพระปลัด ฐานานุกรมในพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ)
  • พ.ศ. 2401 เป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉก พื้นกำมะหยี่หักทองขวาง และมีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึง[2]
  • พ.ศ. 2420 เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพโมฬี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณาฤศร บวรสังฆารามคามวาสี รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉกพื้นกำมะหยี่หักทองขวางประดับพลอย และมีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป[2]
  • วันศุกร์ แรม 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน (ตรงกับวัน 13 มกราคม พ.ศ. 2431) เป็นพระราชาคณะเสมอตำแหน่งธรรมที่ พระพรหมมุนี คัมภีรญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังกรมหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตราคาเดือนละ 4 ตำลึง 3 บาท มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 5 รูป[3] รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉกพื้นโหมดสลับแพร[2]
  • วันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ (ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2435) ได้เพิ่มนิตยภัตเป็นเดือนละ 5 ตำลึงกึ่ง และเพิ่มฐานานุศักดิ์ให้ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป (เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง) รับตาลปัตรแฉกพื้นตาดสลับโหมดและแพรปักเลื่อมเป็นเครื่องยศ[4]
  • วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย (ตรงกับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2437) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลางที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ มัชฌิมคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตราคาเดือนละ 6 ตำลึง มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 8 รูป[5] รับหิรัญบัฏจารึกราชทินนาม และตาลปัตรแฉกพื้นตาดสีเป็นเครื่องยศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะสถาปนาท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะ แต่ท่านอาพาธจนเดินไม่ได้มาช้านาน จึงไม่ได้ทรงตั้ง[2]

ใกล้เคียง

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) พระพรหมวัชรธีราจารย์ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) พระพรหมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร) พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) พระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ วรทสฺสี) พระพรหม พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) พระพรหมวชิรโมลี (ทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระพรหมมุนี_(เหมือน_สุมิตฺโต) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2431/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2437/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/01...