ประวัติ ของ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

ข้อสันนิษฐาน

ประวัติว่าสร้างเมื่อใดยังไม่แน่ชัด เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของวัดมหาธาตุ สุโขทัย ดังที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า "วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม" ซึ่งพิจารณาทั้งตามหลักฐานอื่นและเหตุผลประกอบแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้ น่าจะเป็น พระพุทธรูปทอง องค์ดังกล่าว เพราะปริมาณทองคำแท้นี้ รวมถึงขนาดพระพุทธรูปนี้ ย่อมเกินกว่าที่สามัญชนทั่วไปพึงสร้างเป็นสมบัติ

แต่อย่างไรก็ดี ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกพอกปูนลงรักปิดทองทั่วทั้งองค์ เพื่อเป็นการอารักขาภัย แต่ไม่ทราบว่าตกไปอยู่ในสถานที่ใดบ้าง ทราบแต่เพียงว่าล่าสุด ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระยาไกร (วัดโชตนาราม) แต่ต่อมา วัดพระยาไกร กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีผู้ดูแล ประกอบกับ บริษัท อีสต์เอเชียติก จำกัด ประสงค์ขอเช่าพื้นที่ของวัดเพื่อดำเนินกิจการของบริษัท ที่ประชุมคณะสงฆ์จึงให้วัดไตรมิตรวิทยาราม และวัดไผ่เงินโชตนาราม ไปอัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพระยาไกรนั้น ไปประดิษฐานไว้ตามสมควร ทางคณะของวัดไผ่เงินฯได้เดินทางไปถึงก่อน จึงเลือกอัญเชิญพระพุทธรูปสำริดไป เหลือพระพุทธรูปปูนปั้นไว้ให้วัดไตรมิตร

ข้อสันนิษฐานว่าเหตุใด พระพุทธรูปจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกร บ้างก็ว่าสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ให้กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท อัญเชิญพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัยและเมืองอื่น ๆ เป็นจำนวน 100 กว่าองค์ นำมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ รวมทั้งพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ด้วย แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่มาก นำไปประดิษฐานไว้ในพระอารามหลวงมากกว่าที่จะนำไปประดิษฐานที่วัดราษฎร์ อีกประการคือ เมื่อหุ้มด้วยปูนน่าจะเกิดการกะเท่าแตกบ้างขณะขนย้ายมายังกรุงเทพ และเรื่องที่ว่า มีขุนนางบางคนเห็นประโยชน์ส่วนตัว จึงยักยอกเอาพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แล้วสั่งให้ช่างเอาปูนไล้เสียให้ทั่วองค์พระ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการเก็บเป็นความลับเรื่องพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

ส่วนอีกข้อสันนิษฐาน คือ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้น่าจะหล่อขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างวัดพระยาไกร กล่าวคือ พระยาไกรโกษาได้สร้างพระพุทธรูปทองคำขึ้นมาเพื่อเป็นพระประธานของวัด สันนิษฐานได้ว่า พระยาไกรโกษาเป็นผู้ที่ มองการณ์ไกล เนื่องจากถ้าเกิดศึกสงครามขึ้นมาก็สามารถถอดออกและขนย้ายได้สะดวกกว่าการขนย้ายพระทั้งองค์ ส่วนการไล้ปูนทั่วองค์พระพุทธรูปนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ประการแรก เพื่อเป็นการป้องกันการครหานินทา เนื่องจากว่าไม่เคยมีผู้ใดเคยสร้างพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน[1]

ค้นพบ

ในขั้นแรกเมื่อถึงวัดไตรมิตร ก็ได้แต่เพียงปลูกเพิงสังกะสีธรรมดา เพื่อบังแดดบังฝน ไว้ริมถนนด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ เป็นเวลาถึง 20 ปี ด้วยยังหาที่จะประดิษฐานอันเหมาะสมมิได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 จึงทำการสร้างวิหารใหม่ ด้วยตั้งใจจะประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้โดยเฉพาะ เพื่อจะได้ทำการประดิษฐานพระพุทธรูป ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี แต่ในขณะเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป เนื่องจากพระพุทธรูปมีน้ำหนักมาก สายเครื่องกว้านจึงขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกกระแทกพื้น ส่งผลให้ปูนที่หุ้มบริเวณพระอุระกระเทาะออก เผยให้เห็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ ท่านเจ้าอาวาสจึงให้ลอกปูนออกทั้งองค์ แล้วนำขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิหารนั้นมาจนถึงปี 2550

พอย่างเข้าปลายปี 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างพระมหามณฑป พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แทนพระพระวิหารองค์เดิม ซึ่งคับแคบมาก และเมื่อปลายปี 2552 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีสวมพระเกตุมาลาบนเหนือพระเศียรพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรด้วย

ใกล้เคียง

พระพุทธเจ้า พระพุทธชินราช พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูป พระพุทธโสธร พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร) พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี พระพุทธรูปแห่งบามียาน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร