ตำนาน ของ พระพุทธโสธร

ตำนานหลวงพ่อโสธรนั้น ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างเมื่อใด ทราบตามที่เล่าต่อๆ กันมาแต่เพียงว่า ในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของไทย มีพระภิกษุสามองค์พี่น้อง เรียนพระธรรมวินัยแตกฉานแล้วก็จำแลงกายเป็นพระพุทธรูป

เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งก็ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านบริเวณนั้นพบเข้าก็พากันเอาเชือกมนิลามาฉุดขึ้น แต่ก็เอาขึ้นมาไม่ได้เพราะเชือกขาด ก่อนที่พระทั้งสามองค์จะจมหายไปบริเวณที่พระทั้งสามองค์ลอยทวนน้ำหนีนั้นเรียกว่า สามพระทวน ต่อมาได้เพี้ยนและเรียกว่า สัมปทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจนทุกวันนี้

ต่อมาได้มาผุดขึ้นที่คลองคุ้งให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอีก ชาวบ้านก็พยายามฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จอีก สถานที่นั้นเรียกว่า บางพระ มาจนทุกวันนี้ แต่นั้นมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ได้สำแดงอภินิหารในคลองเล็กๆ ตรงข้ามกองพันทหารช่างที่ 2 ฉะเชิงเทรา บริเวณนั้นเรียกว่า แหลมลอยวน คลองนั้นได้นามว่า คลองสองพี่น้อง ภายหลังก็เงียบไป

จวบจนองค์หนึ่งได้ลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง และไปปรากฏขึ้นที่สมุทรสงคราม ชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลมหรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนชาวสมุทรสงคราม เรียกกันว่า หลวงพ่อบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้

องค์ที่สองได้ลอยวนไปวนมาและมาผุดขึ้นหน้า วัดหงษ์ เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีหงษ์ทำด้วยทองเหลืองอยู่บนยอดเสานั้น จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมาเสียชำรุด ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง แล้วต่อมาก็เกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็นวัดโสธร

ประชาชนพลเมืองจำนวนมากได้พากันหลั่งไหลมาอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งแต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะนั้นมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษผู้รู้คนหนึ่งสำเร็จไสยศาสตร์หรือเทพไสยรู้หลักและวิธีอาราธนา จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดาอาราธนา และได้ใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูปก่อนจะค่อยฉุดลากขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปจึงเสด็จขึ้นมาบนฝั่งเป็นที่ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งของชาวเมือง จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ในพระวิหารวัดโสธร และเรียกนามว่า พระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร ตั้งแต่นั้นมา

ส่วนองค์สุดท้ายได้ลอยไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาประชาชนละแวกนั้นก็หลั่งไหลมาอาราธนาขึ้นฝั่งฉุดขึ้นเป็นการใหญ่แต่ก็ฉุดขึ้นไม่ได้ เล่ากันว่ามีประชาชนพากันมาฉุดนับได้ถึงสามแสนคน จึงเรียกสถานที่นั้นว่า สามแสน ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น สามเสน และเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ลอยไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนจึงได้ได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ในตราบจนทุกวันนี้ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกรูปหนึ่งของเมืองไทย คือ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน[1]

บางตำนานได้เล่าว่ามีพระพุทธรูปพี่น้องอยู่ห้าองค์ อีกสององค์คือ หลวงพ่อไร่ขิง วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และ หลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี และบางพื้นที่เล่าเป็นพระพุทธรูปพี่น้องหกองค์ โดยเพิ่ม หลวงปู่หิน วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ด้วย


ใกล้เคียง

พระพุทธเจ้า พระพุทธชินราช พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธโสธร พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูป พระพุทธรูปแห่งบามียาน พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร) พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย