การปฏิวัติสยาม ของ พระยาพหลพลพยุหเสนา_(พจน์_พหลโยธิน)

ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้สั่งเสียไว้กับภรรยา (ท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา) ว่า หากทำการมิสำเร็จและต้องประสบภัยถึงแก่ชีวิตแล้ว ขอให้คุณหญิงจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า "การที่คิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์ หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่อย่างใดเลย ความมุ่งหมายจำกัดอยู่แต่เพียงว่า ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง"[1] และฝากให้เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีด้วย ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับพระประศาสน์พิทยายุทธที่ขับรถมารับ มุ่งหน้าไปยังตำบลนัดพบ คือ บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ ในเวลา 05.00 น. เพื่อสมทบกับกลุ่มของพระยาทรงสุรเดช พร้อมกับเหน็บปืนพกค้อลท์รีวอลเวอร์ที่เอว เป็นอาวุธข้างกาย ก่อนที่จะเดินทางไปที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่แยกเกียกกาย เพื่อลวงเอากำลังทหารและยุทโธปกรณ์มาใช้ในการปฏิวัติตามแผนของพระยาทรงสุรเดช ซึ่งที่คลังแสงอาวุธภายในกรมทหารม้าฯ นี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ใช้คีมตัดเหล็กที่ทางพระประศาสน์พิทยายุทธได้จัดหาไว้ก่อนหน้านั้น ตัดโซ่ที่คล้องประตูคลังแสง เพื่องัดเอากระสุนและปืนออกมา[9]

จากนั้น ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อทหารทุกหน่วยมาพร้อมแล้ว พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้แสดงตนเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และอ่านประกาศฉบับแรกของคณะราษฏรที่เขียนด้วยภาษาเยอรมัน แต่ได้อ่านออกมาเป็นภาษาไทย[10] ซึ่งมีใจความว่า:

ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการแลกเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเข้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กฎขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะได้เห็นจากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวง ไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกลับกล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎร ผู้มีบุญคุณเสียภาษีให้เจ้ากิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของเราเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากมือข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิป...เงินเหลือเท่าใดก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้วจึงรวมกำลังกันตั้งคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว...ราษฎรทั้งหลาย จงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ...ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุข ความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งกันเรียกเป็นศัพท์ว่า ศรีอารยะ นั้น ก็จะถึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า[1]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระยาพหลพลพยุหเสนา_(พจน์_พหลโยธิน) http://library.tru.ac.th/il/lptupp04.html http://www.dailynews.co.th/article/349/135594 http://www.minister.moi.go.th/mt08.htm http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2462/D/...