ประวัติ ของ พระยาภะรตราชา_(หม่อมหลวงทศทิศ_อิศรเสนา)

พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) เป็นบุตรของหลวงราชดรุณรักษ์ (หม่อมราชวงศ์สะอาด อิสรเสนา) กับนาง ราชดรุณรักษ์ (เอี่ยม อิศรเสนา ณ​ อยุธยา; สกุลเดิม ตุลยานนท์) เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2429 ที่บ้านถนนพระสุเมรุ ตำบลผ่านฟ้าลีลาศ อำเภอชนะสงคราม จังหวัดพระนคร[1] เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านก่อน แล้วจึงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (ที่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร) ต่อมาย้ายไปเรียนที่วัดมหาธาตุและโรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ตามลำดับ ปี พ.ศ. 2446 จึงได้รับทุนกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูที่ประเทศอังกฤษ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนเอาน์เดอล และมหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนจบการศึกษาเพียงภาคเดียว กระทรวงธรรมการก็เรียกตัวกลับมารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและโรงเรียนราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2453 สอนได้เพียงปีเดียวก็ย้ายไปสอนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปที่สวนกระจัง (ปัจจุบันคือวชิราวุธวิทยาลัย) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ ถือศักดินา 400[2]

ปี พ.ศ. 2454 ย้ายกลับไปรับราชการกระทรวงธรรมการและเปลี่ยนราชทินนามเป็น หลวงประพันธ์เนติประวัติ เมื่อปี พ.ศ. 2458 ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองสอบไล่วิชา ปี พ.ศ. 2459 เป็น พระปรีชานุสาสน์ และเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2463 จึงเลื่อนเป็น พระยาภะรตราชา ถือศักดินา 1,600[3] และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษทำหน้าที่ระหว่าง ปี พ.ศ. 2464 – พ.ศ. 2469 รวมเวลา 5 ปี และเป็น 1 ใน 58 ของนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่ร่วมก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นในต่างประเทศ

หลังจากกลับจากประเทศอังกฤษได้มาเป็นเลขานุการเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ แล้วจึงย้ายไปเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2470 ต่อมาอีก 2 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2472 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 2 ต่อจากพระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และในช่วงเดียวกันได้ทำหน้าที่ผู้รักษาการคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปพร้อมกัน จนออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระยาภะรตราชาได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดเทศบาลนครกรุงเทพคนแรกในสมัยที่พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกเทศมนตรี ต่อมาได้เป็นเทศมนตรีหลายสมัยและเป็นสมาชิกวุฒิสภาสองสมัย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2486 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย กระทั่งถึงแก่อนิจกรรม รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวถึง 39 ปี

ชีวิตครอบครัว

พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) สมรสกับท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา (สกุลเดิม ทับเป็นไทย) คุณข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2455 โดยจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงพระกรุณาสวมมงคลและพระราชทานน้ำสังข์ แล้วคู่สมรสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสนี้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานเงินทุนแก่คู่สมรสเป็นจำนวน 100 ชั่ง (8,000 บาท)[4]มีบุตร ธิดารวม 6 คน ดังนี้

ถึงแก่อนิจกรรม

พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) กราบถวายบังคมลาถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ที่เรือนพักในวชิราวุธวิทยาลัย สิริอายุ 89 ปี 9 วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศพิเศษเสมอด้วยองคมนตรี โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศพที่ศาลาบัณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมของหลวงมีกำหนด 7 คืน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 7 คืน และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมอีก 1 คืน แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 50 และ 100 วันพระราชทานตามลำดับ ถึงกำหนดพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นกรณีพิเศษ[5]

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระยาภะรตราชา_(หม่อมหลวงทศทิศ_อิศรเสนา) http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal37.h... http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal72.h... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2456/D/...