การร่าง ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง_พ.ศ._2560

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีความสำคัญต่อวันการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ[4]

วันที่ 9 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดแถลงงานเปิดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ โดยแถลงว่า กรธ. อยากให้เห็นมาตราว่าด้วยกิจกรรมของพรรคการเมือง 4 ข้อที่กำหนด ได้แก่ การมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง ทุนประเดิมพรรคการเมือง การมีสมาชิกถึงเกณฑ์ที่กำหนดภายในระยะเวลาต่าง ๆ และกลไกการบริหารพรรคการเมืองตามที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนด[5] สำหรับความกังวลเรื่องพรรคการเมืองขนาดเล็ก อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. มองว่า การจะส่งผู้สมัครหรือนำแนวคิดทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศ จำเป็นต้องมีกำลังหรือองคาพยพที่ใหญ่พอสมควร กรธ. ต้องการให้พรรคเล็กทำงานมวลชนให้คนที่มีความคิดทางการเมืองชวนพรรคชวนพวกมาร่วมอุดมการณ์ทำงานด้วยความคิด ไม่ใช่รอให้คนเข้ามาร่วมเอง[5]

พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มองพรรคการเมืองเป็นอาชญากร เพราะหากกระทำผิดจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย เช่น การจำกัดคนที่จะมาเป็นสมาชิกพรรค การก่อตั้งพรรคการเมืองที่ทำได้ยากขึ้น รวมไปถึงสมาชิกพรรคจะต้องบริจาคเงินให้พรรคการเมืองด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่พรรคการเมืองจะไปดูแลให้สมาชิกพรรคอยู่ในระเบียบวินัยได้ทั้งหมด ฝ่ายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วิธีปฏิบัติที่ได้ระบุไว้ถือเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติและต้องใช้เวลา เช่น เรื่องการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาแล้วโดยขอเก็บค่าสมาชิก 20 บาทต่อคนต่อปี จากสมาชิกที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน แต่พรรคกลับได้รับค่าบำรุงจากสมาชิกพรรคไม่ถึง 10,000 คน[6]

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคร่วมจ่ายทุนประเดิม และให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองรายปีเพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาควบคุม ครอบงำหรือชี้นำการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง เพื่อป้องกันการเกิด "พรรคนอมินี" ซึ่งเป็นเหตุของคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 และคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 พรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันจะถูกยุบพรรค และพรรคการเมืองใดที่นำมวลชนไปชุมนุมข้างถนนอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองซึ่งมีโทษยุบพรรค[4]

นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต้องแจ้งวงเงินที่จะใช้ แหล่งทุน ความคุ้มค่า และความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งพรรคเพื่อไทยตั้งคำถามว่า "จะทำให้กกต. กลายเป็นผู้เห็นชอบนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่"[4] นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาทของ กกต. ให้สามารถขอความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดูเส้นทางการเงินของผู้ที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ และนำหลักฐานนั้นไปดำเนินคดีกับทั้ง 2 ฝ่ายได้ รวมถึงสามารถขอความคุ้มครองพยานจากคดีการเลือกตั้งได้[4]

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไม่มีการบังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม 72 พรรคไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่[4]

นักการเมืองคัดค้านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าวเพราะมองว่าเป็น "แผนทำลายพรรค" คือ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ[4]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง_พ.ศ._2560 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/730808 http://www.bbc.com/thai/thailand-38274875 http://www.bbc.com/thai/thailand-39626257 http://www.komchadluek.net/news/politic/343668 http://m.senate.go.th/eppo/3_60.pdf http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/... https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782