ประวัติศาสตร์ ของ พระราชพิธีกาญจนาภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2430 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสวยพระกระยาหารเช้าใต้ต้นไม้ ณ สวนฟร็อกมอร์ อันเป็นที่ฝังพระศพของเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟพระที่นั่งจากพระราชวังวินด์เซอร์สู่เขตแพดดิงตันในกรุงลอนดอน จากนั้นจึงเสด็จ ฯ ต่อไปยังพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในช่วงเย็น ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์และเจ้าชายจากประเทศในยุโรปกว่า 50 พระองค์ เสด็จ ฯ มาร่วมในงานเลี้ยงครั้งนี้ เช่นเดียวกับบรรดาผู้ปกครองดินแดนและอาณานิคมต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร ทรงบันทึกไว้ในบันทึกประจำวันส่วนพระองค์ว่า :[2]

เสวยกระยาหารค่ำครั้งใหญ่ร่วมกับพระราชวงศ์ พระราชวงศ์เสด็จ ฯ มาถึงห้องโบว์ก่อน จากนั้นเราจึงร่วมเสวยกระยาหารที่ห้องซุปเปอร์ด้วยกัน ห้องนั้นแลดูโอ่โถงและวิเศษไปด้วยบุฟเฟต์บนจานทองคำ โต๊ะเสวยเป็นรูปเกือกม้าขนาดใหญ่ที่ประดับประดาไปด้วยเชิงเทียนมากมาย

พระราชาธิบดีเดนมาร์กทรงนำข้าพเจ้าเข้าสู่ห้องเสวยและนั่งประทับข้างข้าพเจ้า ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นที่นั่งประทับของวิลลีแห่งกรีซ เจ้าชายแต่ละพระองค์ล้วนแต่ฉลองพระองค์กันอย่างเต็มอิสริยยศ เช่นเดียวกับบรรดาเจ้าหญิงที่ล้วนฉลองพระองค์กันอย่างงดงาม จากนั้นเราทั้งหมดจึงย้ายไปยังห้องเต้นรำ ที่ซึงวงดนตรีของข้าพเจ้าทำการบรรเลงเพลง

ในวันถัดมา ทรงเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถม้าพระที่นั่งแบบเปิดประทุนผ่านใจกลางกรุงลอนดอนสู่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ นำโดยกองทหารม้าอาณานิคมอินเดีย จากนั้นเสด็จ ฯ กลับสู่พระราชวังบักกิงแฮมและเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระบัญชร ที่ซึ่งฝูงชนเปล่งเสียงร้องด้วยความปีติยินดี ต่อมาเสด็จ ฯ มายังห้องเต้นรำภายในพระราชวัง ทรงแจกจ่ายเข็มกลัดที่ระลึกในงานพระราชพิธี พระราชทานแก่พระญาติและพระราชวงศ์ของพระองค์ ในช่วงเย็น ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดคลุมยาวประดับด้วยดอกกุหลาบเงิน ดอกทริสเติล และดอกแชมรอค เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ จากนั้นจึงทรงต้อนรับคณะทูตานุทูตและเช้าชายอินเดีย ก่อนจะเสด็จ ฯ ไปประทับบนเก้าอี้ในสวนของพระราชวังและทอดพระเนตรชมการแสดงพลุดอกไม้ไฟ[2]

ในช่วงพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงรับสั่งให้ติดตามรับใช้โดยชาวมุสลิมอินเดียทั้งสอง หนึ่งในนั้นคืออับดุล คาริม ผู้ซึ่งถูกเลื่อนขั้นให้เป็น มุนชี (เลขานุการ) ประจำพระองค์ในเวลาต่อมา ทั้งยังเป็นเสมียนและผู้ถวายความรู้ด้านภาษาอูรดูแก่พระองค์อีกด้วย[3] พระราชวงศ์และผู้ติดตามคนอื่น ๆ ของพระองค์ต่างรู้สึกประหลาดใจ และกล่าวหาว่าอับดุล คาริม ว่าเป็นสายลับของกลุ่มชาตินิยมมุสลิม รวมถึงสร้างอคติทางลบเกี่ยวกับศาสนาฮินดูให้แก่พระองค์[4] เฟรเดอริค พอนซอนบีย์ (บุตรชายของเซอร์เฮนรี) พบว่าอับดุล คาริม กล่าวเท็จเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของตน เขาจึงรายงานเรื่องนี้แก่ลอร์ดเอลกิน อุปราชแห่งอินเดีย ว่า "มุนชีมีสถานะเฉกเช่นเดียวกับอดีตข้าราชบริพาร จอห์น บราวน์"[5] แม้กระนั้นก็ตาม สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเพิกเฉยต่อเสียงพร่ำบ่นและอคติทางเชื้อชาติ[6] ส่งผลให้อับดุล คาริม ยังคงเป็นข้าราชบริพารคนสนิทของพระองค์จนกระทั่งเสด็จสวรรคตและเดินทางกลับสู่อินเดียพร้อมด้วยเงินบำนาญ[7]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์