พระราชสันตติวงศ์ในพระเจ้าคริสเตียนที่_9_แห่งเดนมาร์ก
พระราชสันตติวงศ์ในพระเจ้าคริสเตียนที่_9_แห่งเดนมาร์ก

พระราชสันตติวงศ์ในพระเจ้าคริสเตียนที่_9_แห่งเดนมาร์ก

ราชสันตติวงศ์ในสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 (Descendants of King Christian IX) เป็นเรื่องราวของการสืบสายพระโลหิตของพระราชโอรสและธิดาทั้งหมด 6 พระองค์ในสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (8 เมษายน พ.ศ. 236129 มกราคม พ.ศ. 2449 เสวยราชสมบัติ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406) โดยมีพระราชนัดดา 39 พระองค์ และพระราชปนัดดา (เหลน) 84 พระองค์ แต่ละพระองค์จึงเป็นทั้งพี่น้องกันหรือพระญาติชั้นที่หนึ่งซึ่งกันและกัน (first cousin) และด้วยการอภิเษกสมรสเข้าไปยังราชสำนักต่างๆ ของทวีปยุโรป พระองค์จึงทรงมีผลกระทบต่อโชคชะตาของราชวงศ์ยุโรปอย่างมาก โดยทรงเกี่ยวข้องทางสายพระโลหิตและการอภิเษกสมรสกับราชวงศ์อังกฤษ นอร์เวย์ เบลเยียม กรีซ โรมาเนีย ยูโกสลาเวีย สเปน และรัสเซีย จึงทำให้ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า พระสัสสุระแห่งยุโรป (Father-in-Law of Europe) สมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 ทรงครองราชบัลลังก์แห่งเดนมาร์กเป็นเวลานานเกือบ 50 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2406-2449 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2361 ณ พระราชวังก็อททอร์ป แคว้นชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (ขณนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก) โดยมีพระอิสริยยศเมื่อแรกประสูติคือ เจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-กลึกซ์บูร์ก เป็นพระโอรสในเจ้าชายฟรีดริช วิลเฮล์มแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-กลึกซ์บูร์ก และเจ้าหญิงหลุยส์ แคโรลีนแห่งเฮสส์-คาสเซิล (พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ผ่านทางพระมารดา และยังสืบสายพระโลหิตมาจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษด้วย) หลังจากที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2374 พระมารดาของเจ้าชายคริสเตียนซึ่งทรงประสบปัญหาทางการเงิน ได้ทรงส่งพระองค์พร้อมกับพระอนุชาและกนิษฐาไปอยู่ในความดูแลของพระมาตุจฉาคือ สมเด็จพระราชินีมารี โซฟีแห่งเดนมาร์ก (พระมเหสีในสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริคที่ 6) ทำให้ทรงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกแห่งเดนมาร์ก ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุได้ 24 พรรษา พระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเฮสส์-คาสเซิล (หลุยส์ วิลเฮลมินา ฟรีเดอริคา แคโรลีนา ออกุสตา จูลี; 7 กันยายน พ.ศ. 2360 - 29 กันยายน พ.ศ. 2441) พระญาติทางฝ่ายพระมารดา ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2385 ณ พระราชวังอามาเลียนบอร์ก กรุงโคเปนเฮเกน และประสูติพระราชโอรสและธิดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ในระหว่างปี พ.ศ. 2386-2401 ด้วยการอภิเษกสมรสกับพระญาติสนิทในกษัตริย์แห่งเดนมาร์กถือเป็นการช่วยเสริมให้สิทธิในราชบัลลังก์ของพระองค์กับพระชายามั่นคงมากยิ่งขึ้น และเมื่อพระมารดา พระเชษฐา และพระเชษฐภคินีของเจ้าหญิงหลุยส์ทรงสละสิทธิการสืบราชสมบัติ ทำให้ทรงกลายเป็นรัชทายาทที่มีสิทธิในราชบัลลังก์มากที่สุดในการสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 8 และสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก ตามลำดับในปี พ.ศ. 2390 ด้วยความเห็นชอบจากมหาอำนาจยุโรปในเวลานั้น เจ้าชายคริสเตียนทรงได้รับเลือกให้เป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์เดนมาร์กโดยสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 8 (ซึ่งทรงเห็นว่าพระราชโอรสพระองค์เดียวที่ต่อมาคือ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริคที่ 7 คงไม่มีสายพระโลหิตแน่นอน) โดยเหตุผลในการเลือกรัชทายาทในครั้งนี้เป็นเพราะการอภิเษกสมรสกับพระราชภาติกาในกษัตริย์แห่งเดนมาร์ก และการสละสิทธิการสืบราชสมบัติของบรรดาสมาชิกในราชวงศ์เฮสส์ ทั้งนี้โดยทางนิตินัยแล้วเจ้าหญิงหลุยส์มีสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่าเจ้าชายคริสเตียน แต่พระองค์ทรงสละสิทธิการสืบราชสมบัติให้แก่พระสวามีในปี พ.ศ. 2395 โดยทรงเลือกเป็นเพียงพระชายาในรัชทายาทหรือพระมเหสีของกษัตริย์แห่งเดนมาร์กในอนาคตเท่านั้น ในที่สุดเจ้าชายคริสเตียนได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 หลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริคที่ 7 จากนั้นอีกหนึ่งปีต่อมาเดนมาร์กได้เข้าสู่สงครามชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ครั้งที่สอง (Second Schleswig War) กับกองทัพพันธมิตรปรัสเซีย (เยอรมนี)/ออสเตรีย เพื่อแย่งชิงสิทธิการครอบครองเหนือดินแดนชเลสวิชและฮ็อลชไตน์ ซึ่งอยู่ทางใต้ของเดนมาร์ก โดยผลของสงครามทำให้ต้องเสียดินแดนทั้งสองให้กับปรัสเซียไปในปี พ.ศ. 2408 สมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 และสมเด็จพระราชินีหลุยส์ทรงเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสครบรอบ 50 ปี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2435 โดยมีพระประยูรญาติจำนวนมากเสด็จมาร่วมแสดงความยินดีที่พระราชวังหลวงในกรุงโคเปนเฮเกน ทั้งสองพระองค์มักทรงต้อนรับบรรดาพระราชโอรส ธิดา และพระราชนัดดาที่เสด็จมารวมตัวกันในช่วงฤดูร้อนของทุกปี และทรงประทับอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมาจนเมื่อสมเด็จพระราชินีหลุยส์เสด็จสวรรคตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2441 ขณะมีพระชนมายุ 81 พรรษา ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 ทรงดำรงพระชนม์ชีพต่อมาและมีพระพลานามัยเสื่อมถอยลงเป็นลำดับจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2449 ณ พระราชวังอามาเลียนบอร์ก กรุงโคเปนเฮเกน สิริพระชนมพรรษา 87 พรรษา

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์