พระประวัติ ของ พระวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าวัฒนา

ประสูติ

พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา (เดิม หม่อมเจ้าวัฒนา) เป็นเจ้านายสายบวรราชสกุล พระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ประสูติเมื่อปีวอก พ.ศ. 2391 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อทรงพระเยาว์

บรรพชา ตามรอยบาทพระศาสดา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระปิตุลา

เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนามีชันษาครบเกศากันต์และผนวชเป็นสามเณร ได้เกศากันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนกับหม่อมเจ้าทั้งปวง แต่เมื่อผนวชแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นปิตุลา ทรงรับไปประทับที่พระตำหนัก ณ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร แล้วเป็นพระธุระทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยประทานตลอดเวลาที่ผนวชอยู่ 1 พรรษา

ฝึกหัดวิชาสุวรรณกิจ

เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนาทรงลาผนวชแล้วได้ตามเสด็จพระบิดาเข้ามาที่โรงทองในพระบรมมหาราชวังเป็นเนืองนิตย์ ด้วยพระบิดาทรงกำกับราชการในโรงทองหลวง หม่อมเจ้าวัฒนาจึงทรงหัดวิชาช่างทองในสำนักช่างหลวง จนทรงชำนาญวิชาช่างทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเมตตา ด้วยเสด็จไปทอดพระเนตรเมื่อหัดเป็นช่างทองอยู่นั้น ได้พระราชทานรางวัลทองทศ ทองพิศ เป็นต้นเนือง ๆ

กตัญญูจิตต่อพระบิดา

เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนามีชันษาครบอุปสมบทก็ได้ผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับอยู่วัดบวรนิเวศเหมือนครั้งผนวชเป็นสามเณร แต่เวลานี้พระบิดาทรงพระชรา ไม่ได้ว่าการโรงทองหลวงเหมือนแต่ก่อน กระทั่งพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 ที่วังปากคลองตลาด

ตามพระเชษฐา เข้ารับราชการ

สนองงาน กระทรวงวัง

เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว หม่อมเจ้าวัฒนามีปรารภที่จะรับราชการเนื่องด้วยวังพระบิดาอยู่ริมคลองตลาด ใกล้กับวังที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ประทับอยู่ในเวลานั้น หม่อมเจ้าวัฒนาจึงทรงคุ้นเคยกับทั้ง 2 พระองค์ ตั้งแต่พระบิดายังทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม มีหม่อมเจ้าเม้า(กนิษฐภคินีในหม่อมเจ้าวัฒนา)เป็นพระชายา ก็ได้เกี่ยวดองกันอีกขั้นหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2424 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงจัดการตั้งกรมทหารรักษาพระราชวัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม จึงทรงชวนหม่อมเจ้าวัฒนาเข้ามารับราชการในกรมทหารนั้น ได้มียศเป็น "นายร้อยเอก" ตำแหน่งผู้ตรวจการ ต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงวัง หม่อมเจ้าวัฒนาก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการในกระทรวงวังด้วย และเป็นหัวหน้าพนักงานกรมวังสำหรับตามเสด็จประพาสหัวเมือง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคุ้นเคยจนโปรดพระอัธยาศัยสนิทดังปรากฏอยู่ในกระแสรับสั่งซึ่งประกาศเมื่อทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้านั้น

หม่อมเจ้าวัฒนารับราชการอยู่ในกรมวังได้ 9 ปี ในระหว่างนั้นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเสมอชั้นปลัดทูลฉลอง และมียศเป็นนายพันเอก

ประพาส รั้งราชการ

เมืองภูวดลสอาง ในแขวงคำม่วน

เมื่อปี พ.ศ. 2434 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสด็จไปเป็นข้าหลวงสำเร็จราชการประจำมณฑลอุดร และทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้หม่อมเจ้าวัฒนา เป็นตำแหน่งข้าหลวงที่ 2 เสด็จไปรับราชการในมณฑลอุดรด้วย ได้ไปรับราชการเป็นข้าหลวงที่ 2 อยู่ 9 ปี ในระหว่างนี้ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบหลายคราว และยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูวดลสอาง พระราชอาณาเขตรในมณฑลอุดร ปัจจุบันคือเมืองมหาไชย (ลาว) (ลาว: ເມືອງມະຫາໄຊ)แขวงคำม่วน สปป.ลาว

เทศาภิบาล มณฑลอุดร

เมื่อปี พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จกลับมารับราชการในกรุงเทพพระมหานคร จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าวัฒนาทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรแล้วทรงสถาปนาพระยศเลื่อนขึ้นเป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าในปีนั้น มีประกาศกระแสพระราชดำริซึ่งทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้

ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๓ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มุสิกสังวัจฉร กติกมาศ กาฬปักษ์ จตุตถีดิถี โสรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ พฤศจิกายนมาศ ทสมมาสาหคุณพิเศษบริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหม่อมเจ้าวัฒนา ในพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ได้เข้ารับราชการในกรมทหารล้อมวัง มีตำแหน่งตั้งแต่ปลัดกองจนถึงนายพันเอกบังคับการกองได้รับราชการในกรมวัง เป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาช้านาน ภายหลังได้ขึ้นไปราชการในกองพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงมณฑลฝ่ายเหนือ และได้เป็นแม่กองขึ้นไปรักษาราชการเมืองภูวดลสอาง๑จนเสร็จราชการ แล้วประจำอยู่ในมณฑลนั้นถึง ๙ ปี ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จลงมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จึงได้รับตำแหน่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือมาจนบัดนี้ มีพระอัธยาศัยซื่อตรงจงรักภักดีต่อราชการ อดทนต่อความลำบากมิได้มีความย่อหย่อน สมควรที่จะได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้า พระองค์หนึ่งได้
จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าวัฒนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ให้มีคำนำหน้าพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา คชนาม ทรงศักดินา ๒,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฝ่ายพระราชวังบวรฯ จงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริ สวัสดิ์พิพัฒมงคล ทุกประการเทอญ— ราชกิจจานุเบกษา[1]

เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนาทรงรับราชการในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลได้มีพระอุตสาหะจัดราชการในมณฑลนั้นเรียบร้อย และทรงทำนุบำรุงผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นหลายอย่าง กอปรด้วยพระอัธยาศัยซึ่งทรงเมตตาปราณีแก่คนทั้งหลาย และเป็นที่นิยมนับถือของบรรดาข้าราชการตลอดจนราษฎรทั่วทุกจังหวัดในมณฑล เป็นเหตุให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 1 เมื่อเป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่นั้น พระองค์เจ้าวัฒนาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยู่ 6 ปี รวมเวลาเสด็จไปรับราชการอยู่ในมณฑลอุดร 15 ปี

หม่อม

พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา มีหม่อม 2 คน คือ

  • หม่อมบัว รองทรง ณ อยุธยา เป็นหม่อมเอก ชาวนครพนม ซึ่งเป็นหลานสาวพระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองนครพนม มีพระธิดากับหม่อมบัว 1 คน คือ
    • หม่อมราชวงศ์วลี ทองใหญ่ หม่อมในหม่อมเจ้าทองประทาศรี ทองใหญ่ มีบุตรธิดา 4 คน คือ
      • หม่อมราชวงศ์ปิ่นทอง ทองใหญ่
      • หม่อมราชวงศ์กรองทอง ทองใหญ่
      • หม่อมราชวงศ์แถบทอง ทองใหญ่
      • พลอากาศเอก หม่อมราชวงศ์ศิริพงษ์ ทองใหญ่
  • หม่อมจวง รองทรง ณ อยุธยา มีพระโอรสกับหม่อมจวง 1 คน คือ
    • หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง สมรสกับล้วน รองทรง ณ อยุธยา มีบุตรี 2 คน คือ
      • หม่อมหลวงรวิวงศ์ รองทรง
      • หม่อมหลวงฉวีพงศ์ รองทรง

จรจากราชการ

เมื่อพระชันษาได้ 59 ปี พระองค์เจ้าทรงรู้สึกพระองค์ว่าทรงทุพพลภาพ ไม่ทรงสามารถจะรับราชการให้สมตำแหน่งได้ดังแต่ก่อน จึงทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญมาจนตลอดพระชนม์ชีพ

สิ้นพระชนม์

หลังจากพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ทรงออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว ทรงสร้างวังตั้งตำหนักอยู่ที่ริมคลองแสนแสบใกล้เชิงสะพานเฉลิมโลกในอำเภอปทุมวัน ประทับอยู่หลายปีจึงประชวรด้วยพระโรคชราและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2461 สิริพระชันษา 71 ปี[2] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรอีก 5 พระองค์ พร้อมกัน

ใกล้เคียง

พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา พระวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวานุรักษ์ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่ง พระวงศ์เธอ กรมหมื่นมนตรีรักษา พระวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช