พระประวัติ ของ พระวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์

เมื่อพระชันษาได้ 3 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนาม ว่า “มนัศสวาสดิ์” ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 เมื่อพระชันษาครบเกณฑ์เกศากันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จเข้าในพระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดี มีขบวนแห่รอบใน และได้สวมพระชฎาพระราชทานเป็นเกียรติยศในวันสมโภช เมื่อเกศากันต์แล้ว ได้เข้ารับราชการในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เมื่อปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์เข้าเป็นพนักงานสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ด้วยพระองค์หนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2443 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นพระอภิบาล ใน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงเจริญวัย สำเร็จการศึกษากลับจากต่างประเทศ ดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จออกวังประทับนอกพระบรมมหาราชวัง หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ก็ตามเสด็จไปประทับอยู่ด้วย เพื่อถวายงานดูแลกิจการในวัง แม้เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรเป็น “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว“ แล้ว หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ก็ยังทรงอยู่ถวายงานมิได้ขาด โดยเฉพาะการควบคุมห้องเครื่องต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทรงทำตลอดรัชกาล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะทรงทดแทนคุณูปการซึ่งได้มีมาแต่พระองค์ในหนหลัง กับทั้งให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศแด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชโองการฯ ดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีคำนำพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎ ว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ ทรงศักดินา 3,000 ตามพระราชกำหนดอย่างพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า นั้น

โดยที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ มีพระหทัยมั่นคงที่จะปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณโดยมิได้คลาดคลาย มุ่งหมายเพื่อให้ทรงพระเกษมสุขสถาพรเป็นที่ตั้ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระเมตตารับอุปการะโดยประการต่าง ๆ อาทิ ให้สร้างวังพระราชทานบนที่ดินของกรมพระคลังข้างที่ ที่ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันคือ ที่ทำการของ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงให้จ่ายเงินพระคลังข้างที่สมทบบัญชีเงินพระราชานุเคราะห์ เพื่อจ่ายผลประโยชน์พระราชทานเป็นรายเดือนให้จนตลอดพระชนมายุ และอื่น ๆ เป็นต้น

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ ประชวรด้วยพระโรคชรา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 สิริพระชันษา 75 ปี ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในสัตตมวารแรก และมีพิธีออกเมรุพระศพเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2496 ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม

ใกล้เคียง

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ