ชีวิตงานและผลงาน ของ พระสารประเสริฐ_(ตรี_นาคะประทีป)

พระสารประเสริฐร่วมงานด้านอักษรศาสตร์และวรรณกรรมอย่างใกล้ชิดกับพระยาอนุมานราชธนมายาวนานเกือบ 40 ปี พระยาอนุมานฯ เล่าว่าหนังสือหิโตปเทศเป็นปัจจัยอันสำคัญที่เปลี่ยนวิถีทางเดินแห่งชีวิตของ "พระมหาตรี" ทั้งสองท่านมีผลงานร่วมกันโดยเรียงตามลำดับการตีพิมพ์ที่ทราบ ดังนี้

  • ภาคผนวกแห่งนิยายเบงคลี 2460
  • ปาลี-สยามอภิธาน 2465
  • หิโตปเทศ 2466
  • พระรามมะลายู 2476
  • สมญาภิธานรามเกียรติ์ 2477
  • ลัทธิของเพื่อน 2496
  • โสตัพพมาลินี อุปกรณ์ 2500
  • สัมภารวิบาก 2502
  • กามนิต โดย คาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรป ในภาษาเยอรมัน แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย จอห์น อี โลกี 2503
  • สัมโมหนิทาน 2503
  • ประวัติราชทินนาม 2503
  • บทฝึกนิสัย 2504
  • สมบัติอันประเสริฐ 2507
  • อาหรับราตรี 2509
  • พันหนึ่งทิวา 2512
  • นานานีติ 2513

  • นิยายเบงคลี 2515
  • รวมนิทาน 2515
  • บาลีสยามอภิธาน 2515
  • คำแก้ว 2516
  • ประชุมเรื่องพระรามและแง่คิดจากวรรณคดี 2516
  • ลัทธิ-ศาสนา 2516
  • กถาสริตสาคร (จากนิยายเรื่องใหญ่ในภาษาสันสกฤต)
  • ฟอลคอน เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฯลฯ
  • ทศมนตรี (แปลจากอาหรับราตรี)
  • นิยายเอกของปาชา
  • นีติศตกม สุภาษิตร้อยบท งานแปล
  • รัตนาวลี
  • เรื่องพระโพธิสัตว์
  • ธาติ
  • สดุดีเด็ก ๆ

พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้ในหนังสือประวัติครูของคุรุสภาว่า ก่อนที่ท่านทั้งสองจะร่วมงานกัน มีงานที่พระสารประเสริฐแต่งเอง 2 เรื่องคือ

  • พระธรรมบทหมวดพาลแทรกชาดก แปลเมื่อ พ.ศ. 2458 และเรื่อง
  • คัมภีร์อภิธารัปปทีปิกา

เมื่อพระสารประเสริฐรับราชการในตำแหน่งปลัดกรมอาลักษณ์ ได้มีหน้าที่ร่างประกาศพระราชกระแสพระบรมราชโองการ คิดตั้งชื่อและยังทำหน้าที่อ่านประกาศในงานพระราชพิธีต่างๆ พระยาอนุมานฯ เล่าว่า มีผู้สงสัยว่าพระสารประเสริฐพูดมีติดอ่างจะอ่านประกาศในงานพิธีให้ดีได้อย่างไร แต่ตรงกันข้าม พระสารประเสริฐอ่านได้ดีเป็นที่สุด เพราะได้ฝึกซ้อมใส่ขีดทำเครื่องหมายแบ่งจังหวะสำหรับอ่านและอ่านซ้อมหลายครั้งอ่านดี จนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เสด็จมาจับไหล่แสดงความยินดี

งานที่พระสารประเสริฐชอมมากเป็นพิเศษคืองานชำระปทานุกรม ซึ่งท่านได้เป็นกรรมการชำระปทานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน โดยบางวันแม้รถประจำทางสาธารณะขัดข้องท่านก็ยังยอมเดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาที่ราชบัณฑิตยสถาน และแม้แต่ที่หอสมุดแห่งชาติก็ยังยอมเดินมาจนได้ เวลาประชุมท่านจะเอาใจใส่พิถีพิถันและมักเอา "หัวชนกำแพง" ถ้าไม่เห็นด้วย "ลางทีชำระคำๆ เดียวกินเวลา 2 ประชุมก็เคยมี" แม้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเป็นประธาน พระสารประเสริฐก็ไม่ยอม "พบกันครึ่งทาง" พระยาอนุมานฯ เล่าว่า ประธานเคยตรัสว่า "ผมไม่ถือ เพราะพระสารประเสริฐเป็นคน "ขลังวิชา" แต่พระสารประเสริฐจะยอมเห็นด้วยโดยง่ายถ้าเห็นว่าถูกต้อง"

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นผู้ร่างคำปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับแรก เมื่อ พ.ศ. 2475 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อีกด้วย โดยเป็นผู้ใช้คำขึ้นต้นว่า "ศุภมัสดุ"

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เป็นวันสุดท้ายที่พระสารประเสริฐมาประชุมชำระปทานุกรม ขณะกำลังจดคำที่พระยาอนุมานราชธนบอก แต่กลับถามว่า "คำอะไรนะ" ซ้ำๆ อยู่ ประมาณ 10 ครั้ง ก่อนหน้านั้นเวลาประชุมก็เงียบผิดปกติ จนพระวรเวทย์พิสิฐ (เซ็ง ศิวะศริยานนท์) ทักขึ้นว่า "วันนี้นักบาลีทำไมเงียบ เห็นจะเป็นเพราะตัว ฝ กระมัง" ท่านไม่ตอบ เลิกประชุมรีบเดินออกจากห้องก่อนใคร พระยาอนุมานฯ เล่าว่าได้ทราบภายหลังว่าเดินไปขึ้นรถประจำทางที่หน้าวังบูรพาล้มลงแต่ก็มีคนพยุงขึ้นรถไปจนถึงบ้าน ไปหมดสติอยู่ที่หน้าบ้านตอนลงจากรถนั้นเอง พระสารประเสริฐสิ้นลมที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลอีก 7 วันต่อมา รวมสิริอายุได้ 56 ปี

ใกล้เคียง

พระสารีบุตร พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) พระสารสาสน์พลขันธ์ (เยโรลาโม เอมิลิโอ เยรินี) พระสาสนโสภณ (โกศล สิรินฺธโร) พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) พระสาสนโสภณ (ใย ภทฺทิโย) พระสาสนโสภณ (เอื้อน ชินทตฺโต)