ประวัติ ของ พระอาจารย์เปลี่ยน_ปญฺญาปทีโป

กำเนิด

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป นามสกุลเดิม วงษาจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีระกา ณ บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ กิ่ง มารดาชื่อ อรดี สกุลเดิม จุนราชภักดี บิดามารดาทำการค้าขาย มีฐานะดี คุณตาเป็นกำนันอยู่ที่ตำบลโคกสี ชื่อ ขุนจุนราชภักดี และคุณยายรักท่านมากจึงรับท่านมาเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน เป็นผู้ชาย 5 คน ผู้หญิง 1 คน มีชื่อตามลำดับ ดังนี้[1]

  1. นายสมบิน วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรม)
  2. นายคำปิ่น วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรม)
  3. พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
  4. นายเหรียญ (วงษาจันทร์) นันตสูตร (ถึงแก่กรรม)
  5. นางหนูจีน (วงษาจันทร์) ธรรมจิตร (ถึงแก่กรรม)
  6. นายถวิล วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรม)

การศึกษา

การศึกษาในระยะแรก ได้เรียนกับคุณตาคุณยายที่บ้าน เพราะระหว่างนั้น เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านโคกคอน เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่ออายุ 11 ปี สอบได้ที่หนึ่งในชั้น ท่านมีความประสงค์จะเรียนต่อ แต่มารดาต้องการให้ท่านมาช่วยงานค้าขายของบิดา ท่านจึงต้องปฏิบัติตามความประสงค์ของมารดา

การประกอบอาชีพและชีวิตก่อนบวช

ในการประกอบอาชีพค้าขายของท่านนั้น ท่านต้องออกเดินทางไปซื้อของถึงจังหวัดอุดรธานี โดยนั่งรถโดยสารบ้าง รถบรรทุกหรือรถขายถ่านบ้าง สินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไป เมื่อถึงฤดูทำนาก็จ้างคนมาทำนา แต่ละปีสามารถเก็บเกี่ยวข้าวจากนาได้มาก จึงขยายกิจการไปค้าขายข้าวเปลือกกับโรงสีใหญ่ ๆ ด้วย

หลังจากผ่านการคัดเลือกทหารแล้ว ท่านหันไปสนใจการรักษาคนเจ็บป่วย ได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องยา การรักษาคนไข้จากหมอประจำอำเภอซึ่งเป็นญาติกัน คุณหมอจึงคิดจะส่งท่านไปเรียนต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งคุณตาก็สนับสนุน แต่มารดาไม่อนุญาต ต้องการให้ท่านดูแลการค้าต่อไป

ในการทำการค้านั้น กิจการต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดี ฐานะการเงินของครอบครัวดี พระอาจารย์เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในการงานสูง ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดจึงไว้ใจ ได้พากันนำเงินมาฝากท่านเหมือนหนึ่งเป็นธนาคาร ท่านก็เก็บรักษาให้เขาโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ท่านทำให้กับทุกคนด้วยความรักและนับถือเหมือนกับที่เขาวางใจท่าน ส่วนในเรื่องการครองเรือนนั้น ท่านไม่คิดที่จะแต่งงานหรือตกลงใจกับใคร แม้ว่าจะมีเพศตรงข้ามพยายามเข้ามาสนิทสนมด้วยหลายคน

พระอาจารย์เปลี่ยนมีโอกาสดีได้คุ้นเคยกับพระสงฆ์มาตั้งแต่อายุ 11-12 ปี เมื่อทางบ้านมีงานบุญ ท่านจะทำหน้าที่ไปรับพระที่วัด จึงได้เห็นวิธีเดินจงกรมของพระอาจารย์ลี วัดป่าบ้านตาล และเป็นผู้ที่ได้แนะนำให้ไปหาหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ (ซึ่งบวชเมื่ออายุมากแล้วและติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการยกย่องด้านการบำเพ็ญเพียรไม่ท้อถอย) หลวงปู่พรหมได้เดินจงกรมให้ดู และสอนให้เดินด้วย จึงถือได้ว่าหลวงปู่พรหมเป็นพระอาจารย์องค์แรกของพระอาจารย์เปลี่ยน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ศึกษากับพระที่บวชกับหลวงปู่พรหมหลายองค์ ซึ่งสรรเสริญการบวชมาก ทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนคิดบวชอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี 14 ปี 16 ปี จนถึง 20 ปี แต่มารดาก็ไม่อนุญาตทั้ง ๆ ที่พี่ชาย 2 คนก็บวช แล้วตัวมารดาเองก็ไปวัดถือศีลทุกวันพระ และบางครั้งเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตก็ตาม จนกระทั่งบิดาของท่านซึ่งป่วยด้วยวัณโรคถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2497 และอีก 5 ปีต่อมาคุณลุงก็ถึงแก่กรรมอีกคนหนึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงใช้ความพยายามขอบวชอีกครั้งหนึ่งเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่เหมือนกับพี่ชายทั้ง 2 คน เพราะยังไม่เคยบวชเลย ขณะนั้นพี่ชายได้สึกออกมาประกอบอาชีพแล้ว มารดาและคุณตาทนการรบเร้าของพระอาจารย์ไม่ไหว จึงอนุญาตให้บวชแค่เพียง 7 วัน

ครั้นทำการฌาปนกิจศพคุณลุงแล้ว วันรุ่งขึ้นท่านก็ถือโอกาสเข้าวัดเพื่อเตรียมตัวบวช หัดขานนาคพร้อมกับคนอื่นซึ่งมาอยู่วัดถือศีลอีก 2 คน ฝึกสวดมนต์เจ็ดตำนานได้เกือบหมดเล่ม ใช้เวลา 40 วัน มีพระอาจารย์สุภาพ ธัมมปัญโญ เป็นครูผู้ฝึกสอน

การบวช

พระอาจารย์เปลี่ยนเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดธาตุมีชัย บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระอุปัชฌาย์ชื่อ พระครูอดุลย์สังฆกิจ พระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระครูพิพิธธรรมสุนทร ได้ฉายาว่า ปัญญาปทีโป

เนื่องจากวัดธาตุมีชัยเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ดังนั้น เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนบวชแล้วจึงย้ายไปอยู่วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านมีความสบายกายสบายใจมากเพราะได้ปล่อยวางภาระต่าง ๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบเงินทองจำนวนมาก ทั้งของท่านเองและเงินฝากของผู้อื่น ความกังวลในการค้าขายให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมทั้งการดูแลรักษาไร่นา วัวควาย และทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ที่ท่านแบกอยู่ผู้เดียวมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ครั้นบวชได้ 18 วัน โยมมารดาก็ขอให้ท่านสึก เพราะเลยกำหนดเวลาที่อนุญาตแล้ว แต่ด้วยความฝักใฝ่ในการศึกษาธรรมะของท่าน จึงได้ขอโยมมารดาบวชต่อให้ครบ 1 พรรษา

ใกล้เคียง