พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่น ของ พระอานนท์

ภาพวาดพระอานนท์ ศิลปะแบบทิเบต

พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ

  1. มีสติ รอบคอบ
  2. มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
  3. มีความเพียรดี
  4. เป็นพหูสูต
  5. เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมากความเป็นพหูสูตของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา กล่าวคือภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว มีภิกษุบางพวกกล่าวติเตียนพระศาสนา ทำให้พระมหากัสสปเถระเกิดความสังเวชในใจว่า ในอนาคตพวกอลัชชีจะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา จำต้องกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ จึงได้นัดแนะพระภิกษุสงฆ์ให้ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา

การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ 3 รูปที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา กล่าวคือ พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งได้รับประทานพรข้อที่ 8 ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย “เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา.....” อันหมายถึง “ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักกรุงกบิลพัสดุ์ และออกบวชพร้อมศากยราชกุมาร ท่านได้จดจำพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่พระภิกษุทั้งหลาย และสรรเสริญพระวินัยและสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี ในการสังคายนาครั้งนี้ท่านจึงได้รับหน้าที่วิสัชชนาเกี่ยวกับพระวินัย

พระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นเลิศทางธุดงวัตรและเป็นผู้ชักชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย เป็นผู้ถามทั้งพระธรรมและพระวินัย

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้งเดียว ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็น 15,000 คาถา โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น

ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ คือท่านเรียนจากพระพุทธองค์ 82,000 พระธรรมขันธ์และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก 2,000 พระธรรมขันธ์ แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา 8 เท่า คือคนเราพูด 1 คำ ท่านพูดได้ 8 คำ

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้พรรณนาคุณของท่านพระอานนท์ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ท่านมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง 4 นิยมไปหาท่านกันมาก ข้อนี้สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ 4 ประการ คือ ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่านก็ยิ่งมีความยินดี แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่ม แล้วทรงเปรียบเทียบท่านซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับพระเจ้าจักรพรรดิ คือว่า พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม

นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า งานรับสั่ง เช่น ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาเดิมของท่าน ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุมเพื่อฟังอานาปานสติ ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น

งานมอบหมาย เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสศรัทธา ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตแก่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตประจำในที่แห่งเดียว เพราะมีคนจำนวนมากต้องการทำบุญกับพระพุทธเจ้า จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น จึงทูลขอพระภิกษุ 1 รูปให้ไปรับนิตยภัตของพระองค์ พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ แม้ว่าในตอนหลัง ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะทรงลืมสั่งให้คนจัดนิตยภัตถวายไปบ้าง แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ

อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ได้ศึกษาธรรม จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสองพระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นไปแทน พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระนี้ และท่านก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลง พรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลง พรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้