ประวัติ ของ พระอุปคุต

ประวัติ

เชื่อกันมาว่า พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี มีเรื่องเล่ามาว่าประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัฏนา ภาคใต้ของประเทศอินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้[1] จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร ท่านมีอีกชื่อว่า "พระบัวเข็ม"

ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยวนว่า พระบัวเข็มหรือพระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวไทยวนจะเรียกว่าเป็น "วันเป็งปุ๊ด" พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น[2]

ความสับสนกับพระบัวเข็ม

พระอุปคุตมักถูกสับสนกับ พระบัวเข็ม ซึ่งเป็นพระในตำนานของพม่า-มอญ-ล้านนา ซึ่งแตกต่างกันกับพระอุปคุตทั้งในทางประติมากรรมและประวัติของพระทั้งสององค์ที่แตกต่างกัน[3] อย่างไรก็ตามในทางพระเครื่องมักถือให้พระอุปคุตเป็นพระองค์เดียวกับ ในทางพระเครื่องมีประวัติว่า "พระบัวเข็ม" เดิมเป็นพระพุทธรูปมอญ เข้ามาแพร่หลายในไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระรามัญได้นำมาถวายพระวชิรญาณภิกขุ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) โดยเชื่อในพุทธคุณว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี ขจัดภยันตราย และมีอิทธิฤทธิ์ในทางขอฝนอีกด้วย[4]

ที่ปราจีนบุรี มีผู้พบพระพุทธรูป เป็นพระบัวเข็มที่แกะสลักด้วยไม้ลอยน้ำมา จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ วัดใหม่ท่าพาณิชย์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี[5]