พระราชกรณียกิจ ของ พระเจ้ากาวิละ

เจ้าหลวงเชียงใหม่แห่ง
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระเจ้ากาวิละ
พระยาธรรมลังกา
พระยาคำฟั่น
พระยาพุทธวงศ์
พระเจ้ามโหตรประเทศ
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พระเจ้าอินทวิชยานนท์
เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
เจ้าแก้วนวรัฐ

ยุคล้านนาของพม่า

ในสมัยปลายพม่าครองล้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2313 พระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ขุนนางเมืองเชียงใหม่ เกิดวิวาทถึงขั้นใช้กำลังทหารเข้าทะเลาะวิวาทกับโป่มะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยาจ่าบ้านมีกำลังน้อยสู้ไม่ไหวจึงหนีไปหาโป่สุพลา แม่ทัพพม่าที่แต่งทัพไปล้านช้าง โป่สุพลากับโป่มะยุง่วนนั้นไม่ค่อยถูกกัน โป่สุพลาจึงรับพระยาจ่าบ้านไว้ในความดูแล

ในปี พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพขึ้นเหนือเพื่อจะขับไล่พม่าที่ครองเวียงเชียงใหม่อยู่ แต่ล้อมเชียงใหม่ได้เพียง 9 วันก็เลิกทัพกลับ[4] โป่สุพลายกทัพจากเชียงแสนกลับถึงเชียงใหม่ในพ.ศ. 2316 พร้อมพาพระยาจ่าบ้านกลับมาด้วย โปสุพลาตั้งทัพอยู่ที่ประตูท่าแพและไม่ยอมส่งตัวพระยาจ่าบ้านให้โป่มะยุง่วน โป่มะยุง่วนทำอะไรไม่ได้จึงร้องเรียนไปยังกรุงอังวะ

ในปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้เจ้าพระยาสองพี่น้องคือ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพขึ้นตีเวียงเชียงใหม่ โปสุพลาทราบว่าธนบุรียกทัพขึ้นมา จึงให้พระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละคุมกำลังพล 1,000 นายเป็นกองหน้าลงไปลำปาง แล้วตนจะยกทัพใหญ่ราวหมื่นนายตามลงไปสมทบหมายจะทำศึกกับทัพธนบุรีที่ลำปาง ระหว่างนั้น กรุงอังวะมีตราเรียกให้ส่งตัวพระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละไปพิจารณาความที่กรุงอังวะ แต่โป่สุพลาก็ยังปฏิเสธส่งตัวทั้งสองคนโดยอ้างว่าทั้งสองยังติดพันราชการศึกอยู่ หากเรียกตัวทั้งสองกลับมาจะทำให้เสียการเสียงานได้ โป่มะยุง่วนทำอะไรไม่ได้จึงสั่งนายกองที่ลำปางเข้าคุมตัวเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ภริยา และบุตรของเจ้ากาวิละส่งตัวไปที่กรุงอังวะเป็นตัวประกัน

พระยาจ่าบ้านซึ่งคุมกำลังอยู่ที่ฮอดทราบข่าวจึงรีบใช้คนสนิทไปบอกเจ้ากาวิละ และตนเองออกอุบายรับอาสาโป่สุพลาจัดกองหน้าที่นำโดยนายก้อนแก้วผู้เป็นหลานไปสำรวจทาง นายก้อนแก้วจึงนำกองทหารโพกผ้าแดงลอบไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งตั้งกองทหารเล็กๆอยู่ที่ถ้ำช้างร้องใกล้เวียงลี้ [5] เจ้ากาวิละเมื่อทราบว่าบิดาและครอบครัวถูกส่งตัวไปยังกรุงอังวะ ก็นำกำลังสังหารนายกองพม่าในนครลำปางเสีย และรีบส่งคนไปชิงตัวครอบครัวกลับมาได้

ยุคธนบุรี

เมื่อกองทัพเจ้าพระยาสองพี่น้องยกมาถึงลำปาง เจ้ากาวิละได้นำเสบียงอาหารและไพร่พลเข้าร่วมสมทบกับกองทัพกรุงธนบุรี[4] เมื่อโปสุพลาซึ่งยกทัพใหญ่ตามลงมาได้ครึ่งทางได้ยินว่าเจ้ากาวิละไปเข้ากับธนบุรีเสียแล้ว จึงยกทัพถอยไปตั้งหลังที่เวียงเชียงใหม่แต่ก็ไม่สามารถต้านทานได้ พาพวกหลบหนีออกไปทางประตูช้างเผือกมุ่งหน้าไปเชียงแสน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาจ่าบ้านขึ้นเป็นพระยาวิเชียรปราการ ครองนครเชียงใหม่ และตั้งนายก้อนแก้ว ผู้เป็นหลาน ขึ้นเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน ทรงสถาปนาเจ้ากาวิละขึ้นเป็นพระยานครลำปาง และให้เจ้าหนานธัมมลังกา เป็นพระยาอุปราชนครลำปาง ในฐานะประเทศราชของกรุงธนบุรี[4][6] ในการนี้ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้รับเอาเจ้ารจจาน้องสาวของเจ้ากาวิละเป็นภริยากลับไปยังกรุงธนบุรีด้วย

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2318 โปมะยุง่วนยกทัพพม่าจากเชียงแสนมาล้อมเวียงเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการเห็นว่าสู้ไม่ไหวจึงมอบหมายให้อุปราชก้อนแก้วสะสมเสบียงรออยู่ที่วังพร้าว[7] เมื่อพม่าล้อมเชียงใหม่ได้ 8 เดือน พระยาวิเชียรปราการจึงทิ้งเมืองมุ่งหน้าไปเมืองระแหง (เมืองตาก) เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทัพพม่าตามตีหลังมาจนถึงลำปางและยกทัพเข้าตีนครลำปาง พระยากาวิละและอนุชาไม่สามารถต้านทานได้จึงทิ้งเมืองมุ่งหน้าไปสวรรคโลก ทางด้านพระยาวิเชียรปราการนั้น พอยกทัพมาถึงวังพร้าวก็เกิดทะเลาะวิวาทกับอุปราชก้อนแก้วเรื่องเสบียง ซึ่งทำให้พระยาวิเชียรปราการบันดาลโทสะฆ่าอุปราชก้อนแก้วเสีย เมื่อทัพหลวงธนบุรีขับไล่พม่าออกไปในปี พ.ศ. 2319 พระยากาวิละและอนุชาจึงยกทัพกลับมาตั้งมั่นที่นครลำปางอีกครั้ง

ในปี พ.ศ. 2323 ครั้นกรุงธนบุรีไปตีล้านช้าง เมื่อเจ้าพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ตีเวียงจันทร์ได้แล้ว แม่ทัพทั้งสองได้แต่งกองข้าหลวงออกไปสืบข่าวทางเมืองน่านจนถึงนครลำปาง แต่ข้าหลวงเหล่านั้นได้ประพฤติตนเช่นอันธพาล เที่ยวปล้นโจรกรรมชิงทรัพย์สินด้วยประการต่าง ๆ พระยากาวิละทราบความจึงคุมกำลังเข้าสังหารข้าหลวงเหล่านั้นเสีย พวกที่รอดตายพากันไปกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้มีตราเรียกพระยากาวิละลงมาเข้าเฝ้าที่กรุงธนบุรี ซึ่งพระยากาวิละทราบว่าตนมีความผิดจึงไม่ยอมลงมาจึงขัดตรานั้นถึงสามครั้ง[7] ซึ่งพระยากาวิละก็ได้ไปตีเอาผู้คนจากเมืองลอง เมืองเทิงเพื่อหวังเอาความชอบไถ่โทษ เมื่อพระยาวิเชียรปราการพาผู้คนที่กวาดต้อนลงไปถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีพระราชโองการให้ลงโทษ พระยาวิเชียรปราการในความผิดฆ่าอุปราชก้อนแก้วผู้เป็นหลาน และลงโทษพระยากาวิละที่ขัดตราด้วยการโบยคนละ 100 ที พร้อมทั้งให้ตัดขอบหูพระยากาวิละทั้งสองข้าง[7] ในความผิดสังหารข้าหลวง ทั้งสองถูกนำไปขังคุก ในระหว่างที่ถูกคุมขัง พระยากาวิละได้ขออาสาไปตีเมืองเชียงแสนเป็นการไถ่โทษ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษพร้อมกลับคืนฐานันดรศักดิ์ ส่วนพระยาวิเชียรปราการได้ล้มป่วยและเสียชีวิตที่กรุงธนบุรี[7]

ยุครัตนโกสินทร์

เมื่อพระยากาวิละตีเชียงแสนได้แล้ว เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระยากาวิละที่นำไพร่พลและเชลยลงไปเฝ้า ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้านครเชียงใหม่ พร้อมกันนี้โปรดเกล้าให้ เจ้าหนานธัมลังกาเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ และให้เจ้าคำสม เป็นพระยานครลำปาง และเจ้าดวงทิพ เป็นพระยาอุปราชนครลำปาง[7]

เมื่อพระยาวชิรปราการขึ้นครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นเวียงเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างที่ไร้ผู้คน พระยาวชิรปราการจึงต้องนำไพร่พลไปพักอยู่ที่เวียงเวฬุคาม นานเกือบ 20 ปี ซึ่งระหว่างนั้น ก็ได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาสะสมไว้ที่เวียงเวฬุคาม เพื่อรอฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ จึงเรียกว่ายุคนี้เป็นยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง"[7] ครั้นสะสมกำลังพลและพลเมืองพอที่จะดูแลเวียงเชียงใหม่ได้แล้ว จึงได้ยาตราเข้าเวียงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2334 และได้ฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของล้านนาได้ในเวลาต่อมา โดยได้ขนานนามเวียงเชียงใหม่ว่า เมืองรัตนตึงษาอภินณบุรี [7] เมื่อปี พ.ศ. 2343

ต่อมาพม่าได้ตั้งชาวยูนนานฉายาว่า "ราชาจอมหงส์" [8] มาเกลี้ยกล่อมให้นครเชียงใหม่เข้าร่วมด้วยกับพม่า และอ้างตนเป็นใหญ่ล้านนาไท 57 เมืองในนาม เจ้ามหาสุวัณณหังสจักกวัติราช โดยตั้งมั่นเมืองสาด พระยาวชิรปราการตั้งให้อุปราชธัมลังกาและเจ้ารัตนหัวเมืองยกทัพไปตีที่เมืองสาด สามารถจับกุมราชาจอมหงส์ได้ พร้อมกันได้จับตัวส่วยหลิงมณี ทูตพม่าที่ส่งไปเมืองแกว (ญวน) ที่กำลังพำนักที่เชียงตุง นำทั้งสองล่องเรือไปถวายตัวที่กรุงเทพ นับว่ามีความชอบมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาวชิรปราการขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ปกครองดินแดนล้านนาไท 57 เมือง เฉลิมพระนามว่า พระบรมราชาธิบดี ศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรค์ เจ้าขัณฑเสมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2345

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ