พระราชกรณียกิจ ของ พระเจ้าจันทรภาณุ

1. ประกาศอิสรภาพจากอาณาจักรศรีวิชัยให้แก่นครศรีธรรมราช ตอนนั้นนครฯเป็นรัฐหนึ่งของศรีวิชัย ซึ่งตอนนั้นศรีวิชัยอ่อนแอเต็มที พระเจ้าจันทรภาณุจึงประกาศเอกราชจากศรีวิชัยในราว พ.ศ. 1773 และอาณาจักรศรีวิชัยก็ถึงกาลอวสานในราวปี พ.ศ. 1838 หลังจากครองความ ยิ่งใหญ่มานานประมาณ 500 ปี

2. ยกทัพไปตีลังกา 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1.ยกไปตีลังกาในราวปี พ.ศ. 1750 ในสมัยของพระเจ้าปรักกรมพาหุ กษัตริย์แห่งลังกา ในการรบครั้งนี้ได้รับชัยชนะ เป็นเหตุให้แสนยานุภาพของพระองค์แผ่ไปตลอดแหลมมลายู และเกิดมีอาณานิคมของตามพรลิงก์อยู่ในลังกา และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลังกาต้องมอบพระพุทธสิหิงค์ให้ในโอกาสต่อมา และชาวลังกาเรียกพระนามของพระองค์ว่า ชวากะ

ครั้งที่ 2 ยกทัพไปตีลังกาครั้งนี้อยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1801 – พ.ศ. 1803 หรือในราว พ.ศ. 1795 นักประวัติศาสตร์บางท่านมีความเห็นว่า ในการรบครั้งนี้พระองค์มิได้กรีฑาทัพไปโดยพระองค์เอง แต่มอบหมายให้ราชโอรสพร้อมด้วยนายพลคนสำคัญไปรบแทน

การไปรบลังกาในครั้งหลังนี้พระเจ้าจันทนภาณุ ได้รับความช่วยเหลือจากทหารชาวทมิฬโจฬะ และพวกปาณฑย์ ซึ่งเป็นศัตรูกับชาวลังกามาแต่โบราณ และได้ยกพลขึ้นบกที่มหาติตถะ ทางฝ่ายนครศรีธรรมราช มีเจ้าชายวีรพาหุเป็นแม่ทัพในระยะแรกฝ่ายพระเจ้าจันทรภาณุมีชัยชนะในการรบ แต่ระยะหลังกองทัพของพวกปาณฑ์เกิดกลับใจไปร่วมรบกับพวกลังกาตีพวกโจฬะแตกพ่าย ทำให้ทัพของพระเจ้าจันทรภาณุถูกล้อม มีนักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในสนามรบ แต่บางท่านบอกว่าพระองค์เสด็จกลับมาได้และอยู่ต่อมาอีกหลายปีจึงสิ้นพระชนม์

3. สร้างวัดวาอาราม อาจารย์มานิต วัลลิโภดมได้สืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ความว่า ในระหว่าง พ.ศ. 1776 – พ.ศ. 1823 นครศรีธรรมราชว่างจากราชการสงครามมีเวลาว่าง จึงได้สร้างวัดขึ้นหลายวัดเช่น วัดพระเดิม วัดหว้าทยานหรือวัดหว้าอุทยาน และได้มีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิไว้ทุกวัดด้วย

4. ตั้งลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นที่นครศรีธรรมราช ในช่วงที่พระเจ้าจันทรภาณุได้ส่งทูตไปเมืองลังการเพื่อขออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์นั่นเอง ก็ได้ส่งพระภิกษุชาวนครศรีธรรมราชไปศึกษาพระธรรมวินัยแบบหินยานของลังกา และตอนขากลับก็ได้เชิญพระภิกษุชาวลังกาพร้อมชนชาวลังกามาด้วย มาตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ที่นครศรีธรรมราชเรียกว่า "พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์" แทนลัทธิเดิมซึ่งพระพุทธศาสนาแบบมหายานตามอย่างศรีวิชัย ต่อมาลัทธิลังกาวงศ์ก็แผ่ไปสู่สุโขทัย ตั้งเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคงมาจนปัจจุบันนี้

5. สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นแบบทรงลังกา ด้วยในระยะพระบรมธาตุเดิมเป็นแบบศรีวิชัยและชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุและชนชาวลังกาที่มาอยู่ที่นครศรีธรรมราช รวมทั้งชาวนครฯเองด้วย ลงความเห็นกันว่าเห็นควรบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุเสียใหม่ให้แข็งแรง โดยให้สร้างใหม่หมดทั้งองค์ตามแบบทรงลังกา และให้คร่อมทับพระเจดีย์องค์เดิมไว้โดยสร้างเป็นพระสถูปทรงโอคว่ำ พระเจดีย์องค์เดิมได้ค้นพบเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ในสมัย รัชกาลที่ 5 และมีหลักฐานยืนยันว่าชนชาวลังกาได้มาอยู่ที่นครฯจริง ด้วยในปี พ.ศ. 2475 ได้ขุดพบพระพุทธรูปลังกาทำด้วยหินสีเขียวคล้ายมรกต 1 องค์ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝีมือของชาวลังการุ่นเก่า โดยขุดพบที่บริเวณพระพุทธบาทจำลองในวัดพระมหาธาตุฯ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ