พระประวัติ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต พระราชโอรสพระองค์ที่ 55 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเที่ยง เมื่อวันอังคาร เดือน 9 แรม 6 ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223 ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2404[4] มีพระพี่น้องร่วมพระอุทรได้แก่

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสวตรวรลาภ
  3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
  5. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา
  6. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง
  7. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
  8. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญฤทธิเดช
  9. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์[5]

พระองค์มีศักดิ์เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยพระองค์สืบเชื้อสายมาจากนายจำปา ณ เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระญาติของเจ้าจอมมารดาทองสุก พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์[6]

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต[7]ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมิวเซียมหลวง[8] ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพิพิธภัณฑ์พระองค์แรก เมื่อ พ.ศ. 2430 ภายหลังจากที่ยกฐานะเป็นกรม[9]หนึ่งในกระทรวงธรรมการ[10] ทรงรับราชการกรมชลประทาน ทรงอำนวยการขุดคลองตั้งแต่คลองสิบสี่ถึงคลองยี่สิบเอ็ดในจังหวัดฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2430[11][12]

ปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมรรคนายกวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร[13]

อีกทั้งยังทรงเป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นสภานายก[14]เลขาธิการ สารานิยกร[15]ผู้ช่วยเหรัญญิก[16]และปฏิคม[17]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป ทรงศักดินา 15000 แล้วให้ทรงตั้งเจ้ากรมเป็นหมื่นพงษาดิศรมหิป ถือศักดินา 600 ปลัดกรมเป็นหมื่นทิพยพันธุ์พิทักษ ถือศักดินา 400 และสมุห์บาญชีเป็นหมื่นอารักษ์พยุหพล ถือศักดินา 300 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441[18] พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศ อันประกอบด้วย พระมาลาเส้าสะเทิน, ประคำทอง, ฉลองพระองค์เข้มขาบจีบเอว, เจียรบาด, พระแสงดาบญี่ปุ่นฝักถม, กากระบอกถาดรองทองคำ, และหีบหมากเสวยทองคำลงยาตรามงกุฏ[19]

ต่อมาวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็นพระเจ้าบรมวงษ์เธอ[20]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป สิ้นพระชนม์[21]ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันอังคาร ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีกุนสัปตศก จ.ศ. 1297 ตรงกับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2478 (ปัจจุบันคือ พ.ศ. 2479) สิริพระชันษา 74 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ[22] ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2479 (ปัจจุบันคือ พ.ศ. 2480)[23]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป http://www.supadisdiskul.com/familytree03.html http://www.supadisdiskul.com/familytree04.html http://drmlib.parliament.go.th/securepdf/p_203777.... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2429/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2431/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/03...