พระประวัติ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าทักษิณชา_นราธิราชบุตรี

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 เป็นพระราชธิดาลำดับที่หกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 (สกุลเดิม สุขสถิต) ธิดาของพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข สุขสถิต) เจ้าเมืองตราด พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดี และพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค[2]

พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่ประสูติหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีแรก จึงทรงเป็นหนึ่งในกลุ่มราชธิดาที่พระราชบิดาทรงมีพระเมตตาสนิทเสน่หาเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงอบรมเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง มักตามพระทัยและมิเข้มงวดดังรัชกาลก่อน ๆ[3] พระองค์จึงได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า นราธิราชบุตรี ซึ่งมีพระราชธิดาเพียงสามพระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนาม โดยอีกสองพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดาในเจ้าจอมมารดาแพ และพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง [4] นอกจากนี้พระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกันโดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี[5]

ทั้งนี้พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่พระราชบิดาทรงโปรดปรานและยกย่องมากเป็นพิเศษพระองค์หนึ่ง ดังปรากฏในความตอนหนึ่งว่า[6]

"...เมื่อพระชันษาได้ ๓ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีสักเลกพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ แต่กรมพระสัสดีกลับเอาเลกไปสักไว้กับพระอภัยสุรินทร์ เจ้ากรมพลฝ่ายขวา เป็นเหตุให้ทรงขัดเคืองพระทัยมาก ถึงแก่ทรงออกเป็นประกาศตักเตือนเจ้านาย ข้าราชการ และพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งอย่างเคร่งครัด มิให้ผิดไปจากรับสั่ง..."

ทรงประสบอุบัติเหตุ

เมื่อมีพระชันษาราว 5-7 ปี พระองค์ได้ประสบอุบัติเหตุขณะโดยเสด็จพระราชบิดา พร้อมกับพระพี่น้อง อีก 3 พระองค์คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าโสมาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง[7] แต่เมื่อรถม้าพระที่นั่งเข้ามาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรีใกล้ทางเลี้ยวไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าได้ตื่นเสียงแตรเสียงกลอง ทำให้รั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่งรถพระที่นั่งจึงเสียการทรงตัวแล้วพลิกคว่ำลง[7] จากอุปัทวเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บทุกพระองค์ ดังปรากฏดังนี้[7]

“...ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง... แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว...อาการน่ากลัวมาก โลหิตไหล ไม่หยุด สักชั่วทุ่มหนึ่งต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตกเป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้น ให้ชักกระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น...”

และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตเลขาเล่าพระอาการประชวรของพระองค์เจ้าทักษิณชาให้เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี ความว่า[8]

“...ทักษิณชา ลูกข้าค่อยยังชั่วแล้ว แต่ยังเดินไม่ได้ กับบางเวลาข้างเท้าและขาข้างดีอยู่นั้นสั่นระทุกไป เขาว่าเป็นเพราะเทพจรไม่เสมอกันทั้งสองข้าง ๆ หนึ่งเป็นแผลใหญ่อยู่จนเทพจรเดินไม่สะดวกจึงกลับมาลงเดินข้างหนึ่งแรงไปกว่าข้างหนึ่ง การก็จะไม่เป็นอะไรดอก เมื่อแผลหายแล้วอาการก็ปกติ...”

โสกันต์

ครั้นเมื่อทรงมีพระชันษาสมควรแก่การโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระดำริเห็นว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ทรงมีพระนามและพระเกียรติยศปรากฏกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น ๆ ด้วยรู้จักมักคุ้นเป็นที่นับถือกันในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อย ตลอดจนกงสุลนานาประเทศก็นับถือมาเฝ้าแหนไต่ถามอยู่เนือง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์เป็นพิธีใหญ่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในปี พ.ศ. 2405[9]

เมื่อโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดให้ปีละ 10 ชั่ง เงินเดือนเดือนละ 3 ตำลึง[9]

เข้ารับราชการฝ่ายใน การประชวร และสิ้นพระชนม์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในรัชกาล ด้วยทรงสนิทสนมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และเป็นมเหสีที่พระราชสวามีทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ทั้งยังสร้างความโสมนัสเมื่อทรงพระครรภ์ เพราะพระราชบุตรที่จะประสูติในภายหน้าจะเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล

จนเมื่อประสูติพระราชบุตรเป็นพระราชโอรส เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2415[10] แต่หลังจากนั้นเพียงแปดชั่วโมง ความโสมนัสกลับเป็นทุกข์โทมนัสอันใหญ่หลวงที่เจ้าฟ้าพระราชกุมารสิ้นพระชนม์ลง พระองค์เจ้าทักษิณชามิอาจปลงพระทัยเชื่อว่าพระราชกุมารที่ดูแข็งแรงเมื่อแรกประสูติจะสิ้นพระชนม์ในเวลาอันสั้น[11]

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนพระทัยแก่พระองค์เจ้าทักษิณชาอย่างมาก พระองค์ประชวรและไม่รับรู้สรรพสิ่งรอบข้างด้วยมีพระสัญญาที่ฝังแน่นแต่เรื่องราวของพระราชโอรสและทรงอยู่ในโลกส่วนพระองค์ มิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้อีกต่อไป[9]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเวียงในนฤบาลสร้างพระตำหนักพิเศษให้พระองค์เจ้าทักษิณชาพักผ่อนแต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น[12] ภายหลังจึงเสด็จไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ณ วังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[12] และย้ายไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาอีกพระองค์หนึ่ง ณ วังตำบลสามเสน

พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา ประชวรสิ้นพระชนม์ที่พระตำหนักวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 เวลา 3 ยามเศษ สิริพระชันษาได้ 700153000000000000053 ปี 7002360000000000000360 วัน เวลาบ่ายวันต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช เสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานแต่งพระศพแล้วอัญเชิญลงพระลองใน ตั้งบนแว่นฟ้า 2 ชั้น ประกอบโกศมณฑป แวดล้อมด้วยเครื่องสูง พระเจ้าน้องยาเธอที่เสด็จมาร่วมพิธีร่วมกันทอดผ้าไตร พระสงฆ์มีพระธรรมเจดีย์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธาน สวดสดับปกรณ์แล้วถวายอนุโมทนา และโปรดให้พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 1 เดือน[13]

การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2450[12]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ